Home บทความคดีแพ่ง กรณีเงินเดือนสามี เป็นสินสมรส ต้องแบ่งให้เมียครึ่งหนึ่ง หรือไม่?

กรณีเงินเดือนสามี เป็นสินสมรส ต้องแบ่งให้เมียครึ่งหนึ่ง หรือไม่?

4484

กรณีเงินเดือนสามี เป็นสินสมรส ต้องแบ่งให้เมียครึ่งหนึ่ง หรือไม่?

บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนี้คือ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๔๗๔ สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(๑) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

(๒) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส

(๓) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นตัวอย่างให้ศึกษาดังต่อไปนี้  คือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๔๖๗/๒๕๖๒

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอก ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากัน โจทก์กับจำเลยจึงยังมีฐานะเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรสย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ.มาตรา 1474(1) เงินเดือนของจำเลยเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส แต่ในเรื่องการจัดการสินสมรสตาม ป.พ.พ.มาตรา 1476 บัญญัติไว้เป็นพิเศษว่า การจัดการสินสมรสในกรณีใดที่สามีและภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อเงินเดือนไม่ใช่สินสมรสที่สามีและภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งทางนำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำโดยทุจริตนำเงินไปจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 การกระทำของจำเลยจึงไม่มีมูลความผิด โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์กับจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า เงินเดือนของจำเลยเป็นสินสมรส เมื่อจำเลยไม่กระทำการตามที่ตกลงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลโดยใช้อุบายหลอกลวงโจทก์เพื่อไม่ให้มีการจัดการนำเงินเดือนอันเป็นสินสมรสมาใช้ร่วมกัน จึงเป็นการเบียดบังเอาเงินสินสมรสไปโดยทุจริตนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงในทางไต่สวนมูลฟ้องเพื่อให้ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยใช้อุบายหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อไม่ให้มีการจัดการนำเงินเดือนอันเป็นสินสมรสมาใช้ร่วมกัน อันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกหรือไม่

โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ.มาตรา 352 วรรคแรก ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3

(หมายเหตุ 1.เงินเดือนเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส เป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1474(1))

ดังนั้นพอสรุปได้ว่า  เงินเดือนสามีเป็นสินสมรส ต้องแบ่งให้เมียครึ่งหนึ่ง

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ ถนนร่มเกล้า ซอย10 แขวง เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
หมู่บ้านศุภาลัย พาร์ควิลล์3 ซอย4
บ้านเลขที่ 290/221 โทร 0899811406 ครับ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.byslaw.com/

Facebook Comments