Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ สิทธิไล่เบี้ยในคดีประกันภัยเกิดขึ้นเมื่อใด

สิทธิไล่เบี้ยในคดีประกันภัยเกิดขึ้นเมื่อใด

2970

สิทธิไล่เบี้ยในคดีประกันภัยเกิดขึ้นเมื่อใด

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 14,777 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 13,883 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 13,883 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 พฤษภาคม 2551) ต้องไม่เกิน 894 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง) ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายของศาลฎีกา จำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ขนว ขอนแก่น 953 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ตามตารางกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ไว้จากนายสร้อย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 เวลา 22.05 นาฬิกา นายสมจิตร ลูกจ้างของจำเลยขับรถโดยสารประจำทางสาย 40 หมายเลขทะเบียน 13 – 9834 กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างของจำเลยโดยประมาทชนรถจักรยานยนต์ที่โจทก์เป็นผู้รับประกันภัย เป็นเหตุให้นายสันติ ผู้ขับรถจักรยานยนต์ได้รับบาดเจ็บ โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นค่ารักษาพยาบาลของนายสันติ ผู้ประสบภัยจากรถให้บริษัทโรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) ไปแล้ว เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2550 เป็นเงิน 13,883 บาท ตามใบแจ้งเรียกเก็บเงินและใบอนุมัติค่าสินไหมผู้ประสบภัย

มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยเป็นเพียงผู้ประกอบการ จำเลยไม่ใช่เจ้าของรถ ผู้ขับขี่รถ ผู้ซึ่งอยู่ในรถหรือผู้ประสบภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ตารางกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นกรมธรรม์ที่ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งบังคับให้เจ้าของรถจะต้องจัดให้มีการประกันตามมาตรา 7 ดังนั้น เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น 13,883 บาท ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 3 แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากนายสมจิตร ผู้ขับรถโดยสารประจำทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายเพราะประมาทเลินเล่อได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 อันเป็นสิทธิไล่เบี้ยที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายเฉพาะ ทั้งจำเลยเป็นนายจ้างของนายสมจิตรซึ่งได้กระทำละเมิดไปในทางการที่จ้าง แม้จำเลยจะมิใช่บุคคลตามมาตรา 31 ก็ตาม แต่นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายเบื้องต้นดังกล่าวจากจำเลยได้ด้วย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

ตารางกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นกรมธรรม์ที่ออกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งบังคับให้เจ้าของรถจะต้องจัดให้มีการประกันตามมาตรา 7 ดังนั้น เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น 13,883 บาท ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจาก ส. ผู้ขับรถโดยสารประจำทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายเพราะประมาทเลินเล่อได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 อันเป็นสิทธิไล่เบี้ยที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายเฉพาะ ทั้งจำเลยเป็นนายจ้างของ ส. ผู้ซึ่งได้กระทำละเมิดไปในทางการที่จ้าง แม้จำเลยจะมิใช่บุคคลตามมาตรา 31 ก็ตาม แต่นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายเบื้องต้นดังกล่าวจากจำเลยได้ด้วย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

สำนักงานทนายฟ้องประกัน
มีปัญหาคดีความโทรปรึกษา โทร 061-939-9935
Facebook Comments