Home ข่าวสาร ของหายในคอนโด นิติบุคคลต้องรับผิดหรือไม่

ของหายในคอนโด นิติบุคคลต้องรับผิดหรือไม่

2689

ของหายในคอนโด นิติบุคคลต้องรับผิดหรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,591,188 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,542,975 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 309,658.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542) ต้องไม่เกิน 48,217.82 บาทตามขอ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดว่าทนายความ 10,000 บาท

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 159/290 ตั้งอยู่บนชั้น 13 อาคารชุดคอมมอนเวลธ์ ปิ่นเกล้า แขวงบางบำรุง เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร โดยโจทก์ได้ชำระเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นรายปี ปีละ 6,120 บาท จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลอาคารชุดคอมมอนเวลธ์ ปิ่นเกล้าและได้ว่าจ้างพนักงานดูแลความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยภายในอาคารชุดดังกล่าวจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และทำสัญญารับประกันภัยเกี่ยวกับทรัพย็สินของจำเลยที่ 1 ตามตารางกรมธรรม์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2542 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา มีคนร้ายงัดกุญแจประตูห้องชุดพิพาทเข้าไปลักทรัพย์ของโจทก์หลายรายการรวมเป็นค่าเสียหาย 1,542,970.25 บาท ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยที่ 1 ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้คนร้ายลักทรัพย์นั้นไปหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 วรรคสอง บัญญัติว่า “ทรัพย์ส่วนบุคคล” หมายความว่า ห้องชุดและหมายความรวมถึงสิ่งปลูกสร้างหรือที่ดินที่จัดไว้ให้เป็นของเจ้าของห้องชุดแต่ละรายวรรคสาม บัญญัติว่า “ห้องชุด” หมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่แยกการถือกรรมสิทธิ์ออกได้เป็นส่วนเฉพาะของแต่ละบุคคล และวรรคสี่ บัญญัติว่า “ทรัพย์ส่วนกลาง” หมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม ส่วนการจัดการทรัพย์ส่วนกลางต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 17, 33, 36 และ 37 กล่าวคือ ต้องมีนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดตามมติของเจ้าของร่วมภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวและตามข้อบังคับโดยมีผู้จัดการหรือคณะกรรมการเป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์ส่วนกลาง จะเห็นได้ว่าตามบทบัญญัติและข้อบังคับดังกล่าวนิติบุคคลอาคารชุดไม่มีหน้าที่รักษาทรัพย์ส่วนบุคคลแต่ประการใด ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลตรวจตราอาคารชุดทุกชั้นโดยใกล้ชิด จึงเป็นเหตุให้คนร้ายเข้าไปในห้องชุดระมัดระวังดูแลตรวจตราอาคารชุดทุกชั้นโดยใกล้ชิด จึงเป็นเหตุให้คนร้ายเข้าไปในห้องชุดลักทรัพย์ของโจทก์ไปนั้น ในกรณีเช่นนี้ตามกฎหมายลักษณะละเมิดหามีบทมาตราใดบัญญัติไว้ว่าเป็นละเมิดไป เพราะการละเมิดนั้นเป็นประทุษกรรมกระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายหรือละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำ หรือที่ตนมีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ การละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้กระทำหรือตนไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องกระทำหาเป็นละเมิดไม่ ดังนี้ การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความลักทรัพย์ของโจทก์นั้น จะถือว่าเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 งดเว้นหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นไม่ได้จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาของโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

  • สรุป
  • การกระทำอันเป็นละเมิดนั้นต้องเป็นการประทุษกรรมต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย หรือละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำ หรือที่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลิ่นเล่อ การละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้กระทำหรือตนไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องกระทำนั้นหาเป็นละเมิดไม่ เมื่อนิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่จัดการและดูแลเฉพาะทรัพย์ส่วนกลางซึ่งหมายถึง ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุดและที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้เพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 4 วรรคสามเท่านั้น นิติบุคคลอาคารชุดจึงไม่มีหน้าที่ดูแลรักษาห้องชุดซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลตามมาตรา 4 วรรคสองแต่อย่างใด ดังนั้นการที่พนักงานรักษาความปลอดภัยของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลตรวจตราอาคารชุดโดยใกล้ชิดและมีคนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ในห้องชุดของโจทก์จึงถือไม่ได้ว่าการลักทรัพย์เกิดจากการที่จำเลยที่ 1 งดเว้นหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420
Facebook Comments