Home คดีอาญา โดนศาลพิพากษาว่าเสพยาเสพติดขณะขับรถ ต้องพักใบอนุญาตทุกกรณีหรือไม่

โดนศาลพิพากษาว่าเสพยาเสพติดขณะขับรถ ต้องพักใบอนุญาตทุกกรณีหรือไม่

3204

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 102, 102(3) ทวิ, 127 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ วรรคสอง และพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102(3 ทวิ), 127 ทวิ (ที่ถูกมาตรา 127 ทวิ วรรคสอง) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43 ทวิ (ที่ถูก มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง), 157 ทวิ วรรคสองเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษและไม่พักใช้ใบอนุญาตขับขี่

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102(3 ทวิ), 127 ทวิ วรรคสองและพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง,157 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง,157 ทวิ วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 57, 91 เพียงบทเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่าแม้การที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถจะถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง แต่รถยนต์ที่จำเลยขับขณะถูกจับกุมดำเนินคดีนี้เป็นเพียงรถยนต์บรรทุกสี่ล้อ มิใช่รถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่หรือรถยนต์โดยสารซึ่งหากมีความเสียหายเกิดขึ้นโดยปกติย่อมรุนแรงน้อยกว่ารถยนต์ประเภทดังกล่าว ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยรอการลงโทษจำคุกให้สักครั้งหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ จึงให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติไว้ด้วยแต่ที่จำเลยฎีกาขอให้ไม่พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยนั้น พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157 ทวิ วรรคสองบัญญัติว่า “ผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอีกหนึ่งในสาม และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่” บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่า เมื่อศาลพิพากษาลงโทษผู้ใดตามกฎหมายมาตรานี้แล้ว ให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ด้วยอันเป็นบทบังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งดังกล่าว ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157ทวิ วรรคสอง แล้ว ย่อมต้องมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือนด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 70,000 บาท อีกสถานหนึ่งลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ35,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยไว้ 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

สรุปพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 157 ทวิ วรรคสองที่บัญญัติว่า “ผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอีกหนึ่งในสาม และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่” นั้น หมายความว่าเมื่อศาลพิพากษาลงโทษผู้ใดตามกฎหมายมาตรานี้แล้ว ศาลต้องสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นด้วย อันเป็นบทบังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งดังกล่าว

Facebook Comments