Home บทความคดีแพ่ง ความผิดฐานหมิ่นประมาท มีจุดสังเกตุใดบ้าง

ความผิดฐานหมิ่นประมาท มีจุดสังเกตุใดบ้าง

2031

บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตามการใช้ซึ่งเสรีภาพดังกล่าวข้างต้น  จะต้องไม่เป็นการใช้ไปในทางก้าวล่วงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นโดยมิชอบ ดังนั้น หากใช้เสรีภาพที่เกินขอบเขตโดยการแสดงความคิดเห็นที่แสดงออกถึงการดูถูกเหยียดหยามทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ผู้กระทำจะมีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณาตามมาตรา 393 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และหากเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามจนน่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้กระทำจะมีความความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 แห่งประมวลกฎหมายอาญา  ดังจะอธิบายต่อไปดังต่อไปนี้

 

 

  “ความผิดฐานหมิ่นประมาท”

 

 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 วางหลักไว้ว่าว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิด ฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

 

องค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท มีดังต่อไปนี้

 

๑. ผู้ใด เป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

 

๒. ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม การใส่ความ คือ การทำให้ปรากฏข้อเท็จจริงโดยอาจเป็นความจริงหรือความเท็จก็ได้ถ้าหากพูดแล้วทำให้ผู้อื่นเสียหายก็เป็นความผิด แม้การเล่าเรื่องที่ได้ยินมาให้กับบุคคลอื่นฟังก็อยู่ในความหมายของคำว่าใส่ความด้วยเช่นกัน ดังนั้น การใส่ความจึงไม่จำกัดวิธีอาจใช้วิธีการใด ๆ ก็ได้ เช่น การใช้คำพูด ภาพวาด การแสดงกิริยาอาการอย่างหนึ่งอย่างใด ใช้ภาษาใบ้ หรือใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ รวมถึงการใช้รูปภาพ เช่น การแอบถ่ายภาพคนที่กำลังร่วมประเวณีแล้วนำภาพเหล่านั้นไปให้ผู้อื่นดูถือได้ว่าเป็นการใส่ความและน่าจะทำให้เสียชื่อเสียงซึ่งเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ข้อเท็จจริงที่จะเป็นหมิ่นประมาทได้นั้น ต้องไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นเพียงคำหยาบหรือข้อเท็จจริงที่เป็นไปไม่ได้ เช่น นาย ก กล่าวว่า “โจทก์เป็นผีปอบเป็นชาติหมา” ความรู้สึกนึกคิดของคนธรรมดาไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น จึงไม่ทำให้ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังแต่อย่างใด เป็นเพียงคำหยาบคายเท่านั้น (จะต้องเอาความรู้สึกนึกคิดของคนธรรมดามาเปรียบเทียบ)

 

นอกจากนี้ การใส่ความจะต้องเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สามด้วย ดังนั้น บุคคลที่สามจึงมีความสำคัญ ความผิดจะสำเร็จต่อเมื่อบุคคลที่สามได้รับทราบข้อความและเข้าใจข้อความหมิ่นประมาทนั้น ถ้าไม่มีบุคคลที่สามจะไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ถ้ามีบุคคลที่สามแต่บุคคลที่สามไม่เข้าใจข้อความ เช่น เป็นคนหูหนวก หรือเป็นชาวต่างชาติไม่เข้าใจภาษาไทย จะเป็นความผิดฐานพยายามหมิ่นประมาท

 

๓.โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ในการพิจารณาว่าน่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ พิจารณาตามความรู้ความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไป ถ้าวิญญูชนทั่วไปเห็นว่า “น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง” และแม้ผู้กระทำจะไม่รู้ว่าน่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ก็ถือว่ามีความผิดแล้ว ดังนั้น เพียงแค่ “น่าจะ” ทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ยังไม่มีความเสียหาย เกิดขึ้นจริงก็ถือว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว

 

๔.  ผู้กระทำต้องมีเจตนา กล่าวคือ เจตนาที่จะใส่ความ หรือเจตนาแสดงข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งพาดพิงไปถึงผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

  “ความผิดฐานดูหมิ่น”

 

 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 วางหลักไว้ว่า “ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

 

ดูหมิ่น หมายถึง การดูถูก เหยียดหยาม ทำให้อับอาย ทำให้เสียหาย เป็นที่เกลียดชัง สบประมาท หรือด่า ส่วนกรณีคำหยาบคายไม่สุภาพ คำแดกดัน คำสาปแช่ง คำขู่อาฆาต คำปรับทุกข์ คำโต้เถียง คำกล่าวติชม ตามปกติวิสัยไม่เป็นการดูหมิ่น และการดูหมิ่นนั้นอาจเป็นการกระทำด้วยวาจา กริยาท่าทาง หรือโฆษณาก็ได้ โดยการกระทำที่จะเป็นความผิดฐานดูหมิ่นตามมาตรา 393 นั้น ต้องเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา ดังนี้

 

“การดูหมิ่นซึ่งหน้า” ต้องมีลักษณะของการเจตนาดูถูก เหยียดหยาม ทำให้อับอาย เสียหาย เป็นที่เกลียดชัง สบประมาท หรือด่า อันเป็นการประทุษร้ายต่อความรู้สึกของผู้อื่น อาจกระทำด้วยวาจาหรือกิริยาท่าทางก็ได้ โดยจะต้องมีการกล่าวหรือแสดงกิริยาท่าทางที่เป็นการดูหมิ่นให้ผู้อื่นทราบในขณะที่มีการกระทำในทันทีทันใด เช่น ด่าผู้อื่นว่า “ไอ้ทนายเฮงซวย” “ตอแหล” “ผู้หญิงชั่ว” “ไอ้หน้าโง่” “อีเหี้ย อีสัตว์ อีควาย มึงคิดว่าเมียกูกินเงินไปหรือไง” “อีดอก”

 

“การดูหมิ่นด้วยการโฆษณา” ต้องมีลักษณะของการแพร่หลายหรือเผยแพร่ออกไปยังสาธารณชนหรือการป่าวประกาศ อาจกระทำโดยเอกสารภาพวาด ภาพยนตร์ หรือการกระจายเสียง การดูหมิ่น ด้วยการโฆษณานี้แม้เป็นการกล่าวลับหลังผู้เสียหายก็เป็นความผิดแล้ว เช่น การลงโฆษณาคำดูหมิ่นลงในหนังสือพิมพ์ เป็นต้น

 

 

ดังนั้นพอสรุปได้ว่า  ความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของบุคคลไม่ให้มีการกระทำที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาการทางเทคโนโลยีซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจึงอาจทำให้เกิดการละเมิดสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลได้ง่ายมากขึ้น

 

Facebook Comments