Home บทความคดีแพ่ง จงใจเขียนเช็คสองฉบับด้วยลายมือต่างกันมีความผิดทางอาญาหรือไม่

จงใจเขียนเช็คสองฉบับด้วยลายมือต่างกันมีความผิดทางอาญาหรือไม่

1345

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 7 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมาย รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (ที่ถูก มาตรา 4 (1))อันเป็นการกระทำความผิดสองกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 10 เดือน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่ผู้เสียหาย 2 ฉบับ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรก สั่งจ่ายเงิน 500,000 บาท ฉบับที่สองสั่งจ่ายเงิน 550,000 บาท เช็คทั้งสองฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2548 เมื่อถึงวันดังกล่าวผู้เสียหายนำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยเบิกความยอมรับว่าเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยลงลายมือชื่อมอบให้ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ค่าแชร์และเป็นหนี้เงินกู้ยืมผู้เสียหายรวมเป็น 1,050,000 บาท และได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจริง สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 กำหนดชำระเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยคืนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 แต่เบิกความปฏิเสธว่า เช็คพิพาทที่จำเลยมอบให้โจทก์นั้น จำเลยไม่ได้ลงวันที่ในเช็ค โจทก์มีผู้เสียหายและสิบตำรวจเอกศิริ เบิกความเป็นพยานยืนยันว่า เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระหนี้วันที่15 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยไม่มีเงินชำระ แต่ได้ออกเช็คพิพาท 2 ฉบับ ให้แก่ผู้เสียหายไว้เป็นการชำระหนี้ จำเลยลงลายมือชื่อ จำนวนเงินแต่ยังไม่ได้ลงวันที่ออกเช็ค ต่อมาจำเลยพูดคุยตกลงกับผู้เสียหาย จำเลยจึงได้ลงวันที่เช็คทั้งสองฉบับ เป็นวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2548 ต่อหน้าตน เท่ากับว่าผู้เสียหายยอมให้จำเลยเลื่อนวันชำระหนี้ แต่เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดผู้เสียหายนำไปขึ้นเงินที่ธนาคารปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้ ผู้เสียหายและสิบตำรวจเอกศิริไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยไม่น่าระแวงว่าเบิกความปรักปรำจำเลย คำเบิกความมีน้ำหนักให้รับฟัง เมื่อพิจารณาประกอบกับวันที่ออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยเขียนเลขอารบิก วันที่ 20 กับเดือน 2 ก็ยังเขียนต่างกัน แม้จำเลยมีพันตำรวจเอกสมชาย เบิกความเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญได้ความว่า ตัวเลขอารบิกในช่องวันสั่งจ่ายรูปลักษณะแตกต่างกัน ลายเส้นแตกต่างกัน เป็นลายมือชื่อของคนละคน แต่พยานได้ตอบโจทก์ถามค้านว่า โดยปกติบุคคลสามารถดัดแปลงการเขียนแต่ละครั้งได้เหมือนกัน จึงเป็นไปได้ว่าจำเลยจงใจเขียนเช็คทั้งสองฉบับด้วยการลงลายมือชื่อในเช็คไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้แก่ธนาคารและจงใจเขียนตัวเลขอารบิก เลข 2 ให้แตกต่างกันอีก พฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีเงินในบัญชีของธนาคารดังกล่าวการกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับสั่งจ่ายจำนวนเงิน 500,000 บาท และจำนวนเงิน 550,000 บาท เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

สรุป

  • จำเลยจงใจเขียนเช็คทั้งสองฉบับด้วยการลงลายมือชื่อในเช็คไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้แก่ธนาคารและจงใจเขียนตัวเลขอารบิกให้แตกต่างกันอีก พฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีเงินในบัญชีของธนาคารดังกล่าวการกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1)
Facebook Comments