Home คดีอาญา ขับรถหลวงนอกเวลาราชการ เกิดอุบัติเหตุ หน่วยงานต้องร่วมรับผิดหรือไม่

ขับรถหลวงนอกเวลาราชการ เกิดอุบัติเหตุ หน่วยงานต้องร่วมรับผิดหรือไม่

2030

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ขับรถยนต์เลขทะเบียน ก.ท.พ. ๔๘๖๒ ของจำเลยที่ ๒ ได้ขับรถดังกล่าวไปตามทางการที่จ้างด้วยความประมาท เป็นเหตุให้ชนโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

สำหรับจำเลยที่ ๑ ส่งหมายเรียกให้ไม่ได้ และโจทก์ไม่แถลงต่อศาลว่าจะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๑ หรือไม่ ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะตัว

จำเลยที่ ๒ ต่อสู้ว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ลูกจ้าง และมีหน้าที่ขับรถยนต์ของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ไม่เคยสั่งหรือมอบหมายให้จำเลยที่ ๑ ไปกระทำการตามทางการที่จ้าง เกิดเหตุเป็นเวลาค่ำคืนนอกเวลาราชการไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องใช้จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์ไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ ๒ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเกินความจริง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ๑๐,๕๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้วเฉพาะอัตราดอกเบี้ย โดยให้จำเลยที่ ๒ เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี นอกนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ ๒ ฎีกา

ข้อแรก จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า โจทก์ขอแก้ฟ้องเกี่ยวกับเลขทะเบียนรถยนต์คันที่ชนโจทก์ หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ศาลจะอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องไม่ได้ เพราะเป็นเวลาภายหลังชี้สองสถาน และภายหลังวันสืบพยานและคดีไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยที่ ๒ ยื่นคำให้การ จำเลยที่ ๒ ก็มิได้ปฏิเสธว่ารถยนต์คันที่ชนโจทก์ไม่ใช่รถยนต์ของจำเลยที่ ๒ คงเถียงแต่เพียงว่า จำเลยที่ ๑ คนขับรถไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ การที่โจทก์ระบุเลขทะเบียนรถยนต์ผิดพลาดไป แล้วมาขอแก้ไขให้ถูกต้องภายหลังเป็นเรื่องแก้ไขความผิดพลาดเล็กน้อย แม้จะเป็นภายหลังกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๐ ศาลก็มีอำนาจอนุญาตให้โจทก์แก้ไขให้ถูกต้องได้

ฎีกาข้อต่อไป ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า รถคันที่ชนโจทก์เป็นรถของจำเลยที่ ๒ มอบให้นายสมโภชน์หัวหน้ากองควบคุมอาคารเทศบาลนครกรุงเทพไปใช้เป็นรถประจำตำแหน่งพร้อมทั้งจ้างจำเลยที่ ๑ เป็นคนขับรถให้ ขณะเกิดเหตุนายสมโภชน์และภรรยาก็นั่งอยู่ในรถด้วย

มีปัญหาว่า การที่เทศบาลนครกรุงเทพจัดรถประจำตำแหน่งให้พนักงานเทศบาลชั้นผู้ใหญ่ใช้พร้อมกับจัดคนขับรถให้ด้วย เมื่อคนขับรถขับไปชนโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสโดยประมาท จะถือว่าขับรถไปตามทางการที่จ้างหรือไม่ ในเมื่อขณะเกิดเหตุเป็นเวลา ๒๐ นาฬิกา นอกเวลาราชการ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า รถยนต์ประจำตำแหน่งรายนี้ ผู้ใช้รถนำรถไปเก็บไว้ที่บ้าน ขณะเกิดเหตุผู้ใช้รถก็นั่งมาในรถนั้นด้วย แม้จะเป็นเวลา ๒๐ นาฬิกา ก็ตาม ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้กระทำไปในทางการที่จ้างจำเลยที่ ๒ จะปฏิเสธความรับผิดไม่ได้

ในเรื่องค่าเสียหาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าศาลล่างกำหนดค่าเสียหายชอบแล้ว

พิพากษายืน

สรุป

Facebook Comments