สัญญารับเหมาก่อสร้างเลิก คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิม ?
บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนี้คือ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๓๘๓ ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป
นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในมาตรา ๓๗๙ และ ๓๘๒ ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับ ในเมื่อบุคคลสัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนกระทำหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วย
มาตรา ๓๙๑ เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่
ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้
ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น
การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่
มาตรา 383 ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้วสิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป
นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในมาตรา 379 และ 382 ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับในเมื่อบุคคลสัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนกระทำหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วย
ประเด็นปัญหา
๑. มาตรา 383 ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ (เป็นดุลพินิจของศาล) เช่น
(๑.๑) เมื่อสัญญาเลิกกันหนี้ตามสัญญาย่อมระงับลง เงินที่โจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยทั้งเจ็ดเพื่อชำระหนี้บางส่วน ย่อมกลับเป็นเงินอันจะต้องใช้คืนเพื่อให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์จำเลยทั้งเจ็ดมีข้อตกลงกันให้ริบเงินที่ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินเมื่อไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง ถ้าสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจที่จะลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งเจ็ดจึงมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระไปแล้วได้ตามข้อตกลงในสัญญา เมื่อศาลลดเบี้ยปรับลงโดยให้จำเลยทั้งเจ็ดคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์หามีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนนับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2549 (วันที่โจทก์ยื่นคำขอบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน) นั้นไม่
เพราะการที่จำเลยทั้งเจ็ดริบเงินไว้เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาโดยชอบ แต่เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงิน 22,000,000 บาท จำเลยทั้งเจ็ดมีหนี้เงินจำนวนที่แน่นอนและเป็นยุติแล้วว่าต้องชำระ จึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง (ฎ.4437/2559)
(๑.๒) การที่สัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายหนังสือสัญญาจ้าง ข้อ 3 ระบุความว่า พนักงานตกลงที่จะทำงานให้กับบริษัทเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับตั้งแต่วันเข้าทำงาน หากพนักงานมีความประสงค์จะลาออกก่อนครบกำหนดเวลา พนักงานยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทไม่น้อยกว่าเงินเดือนในเดือนสุดท้ายที่พนักงานได้รับ ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงกำหนดความเสียหายเพื่อการผิดนัดไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า จึงเป็นข้อตกลงเบี้ยปรับเมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และ 380 ซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลแรงงานกลางมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้โดยให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
กล่าวคือศาลแรงงานกลางจะต้องพิเคราะห์ทางได้เสียของจำเลยในฐานะเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เฉพาะความเสียหายที่คำนวณได้เป็นเงินเท่านั้น นอกจากนี้เบี้ยปรับยังเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อลงโทษโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นลูกหนี้ผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย จึงชอบที่จะพิจารณามูลเหตุ การผิดสัญญาของลูกหนี้ว่าเป็นการจงใจกระทำผิดสัญญาเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นการได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งด้วยหรือไม่ ศาลแรงงานกลางจะใช้ดุลพินิจไม่ให้ค่าเสียหายส่วนนี้เสียเลยหาได้ไม่เพราะไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราใดที่ให้อำนาจงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด
ดังนั้น ศาลแรงงานกลางจึงต้องฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่จุดมุ่งหมายของข้อสัญญาที่ให้ทำงานครบ 2 ปี ความจำเป็นที่ต้องทำสัญญาไว้เช่นนี้ ความสำคัญของตำแหน่งหน้าที่การงานของโจทก์ต่อจำเลย ความเสียหายอื่นที่มิใช่ทรัพย์สิน รวมตลอดถึงเหตุผลที่โจทก์ผิดสัญญาจ้างแรงงานว่าเป็นการกระทำไปโดยจงใจเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นการได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่เสียก่อน แล้วใช้ดุลพินิจพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายกำหนดเบี้ยปรับเป็นจำนวนพอสมควร (ฎ. 7620/2559)
(๑.๓) เงื่อนไขต่าง ๆ ที่มีลักษณะบังคับจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติตามไว้ล่วงหน้า หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามสัญญาแล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับและค่าธรรมเนียมจากจำเลยที่ 2 ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน นั้น โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันด้วยความสมัครใจและเป็นเบี้ยปรับ หากกำหนดกันไว้สูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
หาเป็นข้อสัญญาหรือข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด อันจะถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 (ฎ. 11379/2556)
(๑.๔) เมื่อสัญญาเลิกกัน คู่สัญญาต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิม การกำหนดค่าของงานที่จะต้องชดใช้แก่กัน จึงมิใช่เป็นค่าตอบแทนหรือค่าเสียหาย แต่เป็นหนทางหนึ่งที่จะสามารถทำให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ส่วนค่าของงานที่จะชดใช้แก่กันนั้น ก็ต้องพิจารณาจากมูลค่าของงานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยตามความเป็นจริง จะยึดเอาค่าจ้างที่จะต้องชำระตามงวดงานที่กำหนดไว้ในสัญญาที่เลิกกันแล้วมา เป็นหลักเกณฑ์อีกไม่ได้ เพราะค่าจ้างที่กำหนดให้ชำระตามสัญญานั้นอาจมีการกำหนดสิ่งที่มิใช่ค่าของงานลงไปด้วย
ที่โจทก์และจำเลยตกลงกันว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่ง เมื่อไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383
ความรับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียม ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจให้ฝ่ายใดเป็นผู้เสียก็ได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี (ฎ. 7618/2552)
๒. ถ้าไม่ใช่เบี้ยปรับ ศาลจะลดลงตาม มาตรา ๓๘๓ วรรคหนึ่งมิได้ เช่น
(๒.๑) แม้ในหนังสือสัญญาซื้อขายที่จำเลยทำกับเจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีข้อความระบุว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือตามกำหนด ยอมให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินมัดจำ และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดต่อไปได้เงินสุทธิต่ำกว่าครั้งก่อนเท่าใด จำเลยยอมรับผิดชดใช้ให้เต็มจำนวนที่จำเลยประมูลไว้ในครั้งก่อน
ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงการนำเงื่อนไขตามหลักกฎหมายข้างต้นมาระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น มิได้มีลักษณะเป็นการตกลงกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด ราคาส่วนที่ขาดที่จำเลยต้องรับผิดชำระจึงไม่เป็นเบี้ยปรับที่ศาลจะลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง (ฎ. 6662/2558)
๓. เมื่อจำเลยชำระเงินตามสัญญาโดยหักเงินค่าปรับไว้ตามที่โจทก์ยินยอม จึงเป็นกรณีโจทก์ใช้เงินตามเบี้ยปรับแก่จำเลยแล้ว
โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกขอลดเบี้ยปรับหรือขอคืนเบี้ยปรับได้ แม้ว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็ตาม ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง (ฎ. 16520/2557)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นตัวอย่างให้ศึกษา มีดังต่อไปนี้ คือ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๖๑๘/๒๕๕๒
เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว กฎหมายบังคับให้คู่สัญญาต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิม การกำหนดค่าของงานที่จะต้องชดใช้แก่กัน มิใช่เป็นค่าตอบแทนหรือค่าเสียหาย แต่เป็นหนทางหนึ่งที่จะสามารถทำให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ส่วนค่าของงานที่จะชดใช้แก่กันนั้น ก็ต้องพิจารณาจากมูลค่างานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยตามความจริง จะยึดเอาค่าจ้างที่จะต้องชำระตามงวดที่กำหนดไว้ในสัญญาที่เลิกกันแล้วมาเป็นหลักเกณฑ์อีกไม่ได้ เพราะค่าจ้างที่กำหนดให้ชำระแก่กันตามสัญญานั้นอาจมีการกำหนดสิ่งที่มิใช่ค่าของงานลงไปด้วย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสี่ บัญญัติว่า การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ และในสัญญาจ้าง ข้อ 20 กำหนดให้จำเลยสามารถเรียกค่าปรับในกรณีที่โจทก์ส่งมอบงานล่าช้าในอัตราวันละ 31,880 บาท แม้จำเลยจะบอกเลิกสัญญากับโจทก์แล้วก็ตาม ดังนั้น โจทก์จึงต้องเสียค่าปรับกรณีส่งมอบงานล่าช้าแก่จำเลย และต้องนำมาหักจากค่าของงานที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ แต่การที่โจทก์จำเลยตกลงกันว่า จะใช้เงินจำนวนหนึ่ง เมื่อไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควรก็ดี ถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตามมาตรา 383
หนังสือค้ำประกันในวงเงินจำนวน 900,000 บาท เป็นหนังสือค้ำประกันที่โจทก์นำมอบให้แก่จำเลย เพื่อเป็นการปฏิบัติตามสัญญา รวมถึงการประกันความชำรุดเสียหายของงานจ้างที่อาจจะเกิดขึ้นภายใน 2 ปี นับแต่วันส่งมอบงาน หากไม่มีความเสียหายหรือโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยครบถ้วนแล้ว จำเลยจึงจะคืนหนังสือค้ำประกันแก่โจทก์ ทั้งจำเลยยังมิได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ธนาคารใช้เงินแก่จำเลยตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าว จึงถือว่าจำเลยริบเงิน 900,000 บาท มาเป็นการชำระค่าเสียหายแก่จำเลยแล้วไม่ได้
ดังนั้นพอสรุปได้ว่า สัญญารับเหมาก่อสร้างเลิก คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิม