Home บทความคดีแพ่ง ความรับผิดของผู้รับประกันภัยรถยนต์ กับกรณีคนขับเมา

ความรับผิดของผู้รับประกันภัยรถยนต์ กับกรณีคนขับเมา

1481

กรณี ขอบเขตของความรับผิดของผู้รับประกันภัยรถยนต์ กับกรณีคนขับเมา ?

ประเด็นดังกล่าวนี้มีบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวโดยตรง คือ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

 

มาตรา 887  อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ

บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย

อนึ่ง ผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่ เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว

 

 

จากกรณีตามประเด็นดังกล่าวมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศึกษาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๒๐๑/๒๕๕๗
จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ขับ จำเลยที่ ๒ จึงมีความผูกพันจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัย อันเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์เท่านั้น จำเลยที่ ๒ หาใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วมไม่ เมื่อกรมธรรมเพียงแต่กำหนดวงเงินความเสียหายที่จำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดโดยมิได้ระบุให้ร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้ทำละเมิด จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทำละเมิด อีกทั้งหนี้หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ ๒ ชำระหนี้วันใด กรณีไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ ๒ ตกเป็นผู้ผิดนัด ชำระหนี้มาก่อนที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้อง จำเลยที่ ๒ จึงคงต้องรับผิดซดใช้ ดอกเบี้ยแก่โจทก์นับติ๋งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๐๐/๒๕๕๗

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองรถบรรทุกคันเกิดเหตุที่ได้เอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัย โดยวันเกิดเหตุลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 1 ไปส่งสินค้าให้แก่โจทก์ ย่อมถือได้ว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 รับประกันภัยโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เมื่อลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถคันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยถอยหลังชนซุ้มเสาประตูโรมันค้ำยันและรองรับระเบียงหน้าบ้านของโจทก์แตกหักเสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายจึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้โดยลำพัง เพียงแต่หากโจทก์ผู้ต้องเสียหายไม่ได้ฟ้องหรือเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู้คดีด้วย จะมีผลเพียงทำให้ผู้ต้องเสียหายไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ยังขาดจากผู้เอาประกันภัยได้เท่านั้น หาได้มีผลถึงกับทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อผู้ต้องเสียหายและทำให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ คดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยรวมมากับจำเลยที่ ๒ ผู้รับประกันภัยโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเอง ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากไม่ได้เป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์นั้น หาทำให้มูลหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ระงับสิ้นไปไม่ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างที่ลูกจ้างได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ตามกฎหมายก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผิดไปมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องเท่านั้น ดังนั้น เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยยังคงมีอยู่ในขณะที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์และขณะนั้นจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยซึ่งมีความรับผิดตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยอยู่ก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 จึงหาหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนยังคงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย กรณีหาใช่เรื่องมูลความแห่งคดีที่การชำระหนี้มิอาจแบ่งแยกกันได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดอันจะเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยต้องหลุดพ้นไปจากความรับผิดแต่อย่างใดไม่

 

 

 

 

ส่วนกรณีคนขับเมานั้น มีผลเพียงทำให้ไม่ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกัน แต่ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกอยู่

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2556

โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน โจทก์ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกซึ่งผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบ บุคคลภายนอกมีสิทธิเรียกร้องจากผู้รับประกันภัยได้โดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 เมื่อจำเลยผู้เอาประกันภัยทำละเมิดและต้องรับผิดชอบต่อ ว. ท. และ จ. บุคคลภายนอก โจทก์ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ ว. ท. และ จ. ตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าว โจทก์ไม่อาจนำข้อยกเว้นความรับผิด เนื่องจากขณะขับขี่จำเลยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ข้อ 7.6 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ใช้บังคับระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยกับจำเลยผู้เอาประกันภัยไปใช้เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวได้ โจทก์ยังต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก เพียงแต่เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยต้องใช้เงินที่โจทก์ใช้ไปนั้นคืนโจทก์

ดังนั้นพอสรุปไม่อาจนำข้อยกเว้นความรับผิด เนื่องจากขณะขับขี่เมา ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ใช้บังคับระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยกับจำเลยผู้เอาประกันภัยไปใช้เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ยังต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก

Facebook Comments