Home คดีอาญา การโอนสิทธิประกันภัย ต้องทำเป็นหนังสือหรือไม่

การโอนสิทธิประกันภัย ต้องทำเป็นหนังสือหรือไม่

2386

กรณีการบอกกล่าวการโอน(ประกันภัย ) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๘๗๕  ต้องทำเป็นหนังสือหรือไม่  ?

บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนี้ คือ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๘๗๕  ถ้าวัตถุอันได้เอาประกันภัยไว้นั้น เปลี่ยนมือไปจากผู้เอาประกันภัยโดยพินัยกรรมก็ดี หรือโดยบัญญัติกฎหมายก็ดี ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยก็ย่อมโอนตามไปด้วย

ถ้าในสัญญามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อผู้เอาประกันภัยโอนวัตถุที่เอาประกันภัยและบอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันภัยไซร้ ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยนั้นย่อมโอนตามไปด้วย อนึ่ง ถ้าในการโอนเช่นนี้ช่องแห่งภัยเปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มขึ้นหนักไซร้ ท่านว่าสัญญาประกันภัยนั้นกลายเป็นโมฆะ

 

กรณีตามมาตรา ๘๗๕ วรรค ๑ เป็นเรื่องวัตถุที่เอาประกันภัยเปลี่ยนมือไปจากผู้เอาประกันภัย  โดยพินัยกรรมหรือโดยกฎหมาย  ส่วนกรณีตามมาตรา ๘๗๕  วรรค ๒ เป็นเรื่องผู้เอาประกันภัยโอนวัตถุที่เอาประกันภัยโดยนิติกรรม

 

แต่อย่างไรก็ตาม   การเปลี่ยนมือตามมาตรา ๘๗๕ วรรค ๑ และการโอนตามมาตรา ๘๗๕  วรรค ๒  หมายถึงการเปลี่ยนมือหรือการโอนไปยังกรรมสิทธิ์ ในวัตถุที่เอาประกันภัย  หรืออาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือทำให้กรรมสิทธิ์เปลี่ยนมือไปหรือโอนกรรมสิทธิ์ไปเป็นของผู้อื่น  แต่จากประเด็นข้างต้นมิใช่การโอนวัตถุที่เอาประกันภัย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นตัวอย่างให้ศึกษา ดังนี้คือ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๑๐/๒๕๒๐

รถยนต์ที่เจ้าของเอาประกันภัยค้ำจุนไว้ได้โอนมาเป็นของจำเลยที่ 2 และได้บอกกล่าวผู้รับประกันภัยแล้ว ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดในกรณีที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ การบอกกล่าวไม่ต้องทำเป็นหนังสือหรือจดลงในกรมธรรม์

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๖๓/๒๕๓๒

เมื่อผู้เอาประกันรถยนต์ได้บอกกล่าวการโอนรถที่เอาประกันภัยไว้กับผู้รับประกันภัยให้แก่ตัวแทนของผู้รับประกันภัยทราบแล้ว แม้จะเป็นการบอกกล่าวด้วยวาจาก็ถือว่าผู้รับประกันภัยทราบแล้วเช่นเดียวกัน สิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันย่อมโอนตามไปยังผู้รับโอนรถยนต์ด้วยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 875 วรรคสอง ผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดตามสัญญาประกันภัยนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๕๔/๒๕๓๙

การที่บริษัทเอผู้ขายและผู้เอาประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางทะเลได้รับชำระราคาสินค้านั้นแล้วได้ส่งใบตราส่ง ใบกรมธรรม์ประกันภัย ใบกำกับสินค้าและใบรายการบรรจุหีบห่อไปให้บริษัทบี ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของบริษัทเอว่าประสงค์จะโอนสินค้าซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยไปให้บริษัทบีแล้ว และเมื่อปรากฎว่าสินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหาย บริษัทบีก็ได้ทวงถามให้จำเลยซึ่งบริษัทเชื่อว่าเป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยเพิกเฉย จึงทวงถามโจทก์ผู้รับประกันภัย โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัทบีไป ย่อมทำให้เชื่อว่าบริษัทเอผู้เอาประกันภัยได้บอกกล่าวการโอนสินค้าซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยไปยังโจทก์ผู้รับประกันภัยแล้ว มิฉะนั้นย่อมไม่มีเหตุที่โจทก์จะยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทบี ฉะนั้น สิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยดังกล่าวย่อมโอนไปยังบริษัทบี ตามป.พ.พ. มาตรา 875 วรรคสอง เมื่อโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายให้บริษัทบี โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของบริษัทดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวได้

การที่จำเลยขอนำเรือเข้า ติดต่อขอเช่าเรือลากจูง นำหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารมาวางเป็นประกันต่อกรมเจ้าท่าและการท่าเรือ-แห่งประเทศไทย และการที่จำเลยเป็นผู้ออกใบปล่อยสินค้าพิพาท เห็นได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการขนส่งทอดสุดท้ายเพื่อให้สินค้าพิพาทได้ขนส่งถึงมือผู้รับตราส่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเลโดยจำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้าย จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 618 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับการรับ-ขนของทางทะเลในขณะเกิดเหตุข้อพิพาท

 

ดังนั้นพอสรุปได้ว่า  กรณีการบอกกล่าวการโอน(ประกันภัย ) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๘๗๕  ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือ แม้แต่บอกกล่าวด้วยวาจาก็ถือว่าผู้รับประกันภัยทราบแล้วเช่นเดียวกัน

Facebook Comments