Home บทความคดีแพ่ง จุดที่ศาลฎีกาใช้วินิจฉัยชี้ขาด การติชมโดยสุจริตหรือไม่

จุดที่ศาลฎีกาใช้วินิจฉัยชี้ขาด การติชมโดยสุจริตหรือไม่

1041

จุดที่ศาลฎีกาใช้วินิจฉัยชี้ขาด การติชมโดยสุจริตหรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 326, 328, 332 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 50,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชนรายวัน และเอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน มีขนาด 1/2 หรือเศษหนึ่งส่วนสองของหน้าหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เป็นระยะเวลา 7 วัน ติดต่อกันโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า โจทก์มีชื่อเล่นว่าเอี้ยง โจทก์เคยรับราชการในท้องที่จังหวัดเชียงรายระหว่างปี 2521 ถึงปี 2545 หลายตำแหน่งรวมถึงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดเชียงรายและป่าไม้เขตเชียงรายด้วย ต่อมาโจทก์ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ขณะฟ้องคดีนี้โจทก์ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน มีจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 วันที่ 30 กันยายน 2552 และวันที่ 1 ตุลาคม 2552 หนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน ตีพิมพ์ข้อความทำเป็นข่าวพิเศษมีความยาว 3 ตอนจบ โดยมีหัวข้อข่าวว่า “เปิดกลโกงขบวนการฮุบป่าเชียงราย (1) สวนหัวหน้าเอี้ยง ใช้เล่ห์สวมคนตายเป่าคดี” “เปิดกลโกงขบวนการฮุบป่าเชียงราย (ตอนที่ 2) เล่ห์ป่าไม้ – ที่ดินร่วมเอกชนฮุบสวนป่าราชการ” และ “เปิดกลโกงขบวนการฮุบป่าเชียงราย (จบ) เดิมพันสูง – คดีมีตอ” แล้วจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อความตามเอกสารดังกล่าวเป็นการใส่ความโจทก์อันเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ สำหรับข้อความตามเอกสารดังกล่าวมีเนื้อหาว่ามีกลุ่มบุคคลบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ข้าวต้ม – ป่าห้วยลึก ซึ่งมีการกันพื้นที่ออกมาเป็นสวนป่ากิ่วทัพยั้งและมีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนพื้นที่สวนป่าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สลองในท้องที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ตรวจสอบพบว่ามีที่ดินแปลงหนึ่งเนื้อที่ 49 ไร่เศษ สภาพเป็นสวนลิ้นจี่บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ชาวบ้านหมู่บ้านแม่ข้าวต้มเรียกสวนนี้ว่า “สวนหัวหน้าเอี้ยง” หรือ “สวนนายเอี้ยง” มีการปลูกสร้างบ้านพักไว้หลายหลัง และมีสระน้ำขนาดใหญ่ กับมีผู้เห็นรถกระบะติดตรากรมป่าไม้เข้าออกที่ดินดังกล่าวเสมอและเสนอให้ดำเนินการเอาผิดแก่ผู้เกี่ยวข้องรวมถึงโจทก์ด้วย แต่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่กรมป่าไม้แต่งตั้งขึ้นตรวจสอบกลับพบว่าที่ดินแปลงดังกล่าวส่วนหนึ่งเนื้อที่ 38 ไร่เศษ อยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิของนายเป็ง แต่อีกส่วนหนึ่งเนื้อที่ 9 ไร่เศษ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นของนายคำรณ ซึ่งเสียชีวิตไปนานแล้ว เป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินคดีเอาผิดแก่ผู้กระทำความผิดได้ อันเนื่องมาจากมีการโยกย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องหลายคนช่วงที่โจทก์ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และน่าเชื่อว่ามีขบวนการช่วยเหลือผู้กระทำความผิดอยู่ภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นว่า ข่าวเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม ซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยที่ 1 นำเสนอผ่านหนังสือพิมพ์ดังกล่าว มีหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 14 กันยายน 2552 นำมาตีพิมพ์ก่อนแล้ว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เคยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2550 ก็ได้ความว่า มีการกระทำความผิดจริง โดยมีผู้เกี่ยวข้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนหลายคน พร้อมเสนอว่าสมควรส่งเรื่องไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการต่อไปตามสำเนารายงานการสอบสวนข้อเท็จจริง ต่อมา ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว พบว่ามีการกระทำความผิดเช่นเดียวกัน โดยผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายได้มีหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 รายงานข้อเท็จจริงว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกระทำความผิด และเสนอความเห็นให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ด้วย ตามสำเนาบันทึกข้อความ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ก็ได้เห็นชอบให้มีการดำเนินคดีแก่ผู้เกี่ยวข้องโดยให้ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายประสานนายวรวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เป็นผู้มาแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีต่อไป ตามสำเนาบันทึกข้อความ เห็นได้ว่าข่าวเรื่องการบุกรุกป่าในท้องที่จังหวัดเชียงรายดังกล่าวเป็นข่าวที่สื่อมวลชนมิใช่เฉพาะจำเลยที่ 1 และประชาชนให้ความสนใจ แม้ในตอนแรกคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชตั้งขึ้นจะมิได้ระบุตัวผู้กระทำความผิดว่ามีผู้ใดบ้าง เพียงแต่ระบุว่ามีการกระทำความผิดจริง โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยก็ตาม แต่ในเวลาต่อมาคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงชุดที่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 แต่งตั้งขึ้นและผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายทำการสืบสวนแล้วก็ได้ข้อเท็จจริงสอดคล้องกัน ทั้งยังระบุตัวผู้ที่กระทำความผิดว่ามีโจทก์รวมอยู่ด้วย ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 นำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของตนจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบสวนและสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงเจ้าพนักงานตำรวจ ส่วนเรื่องการโยกย้ายข้าราชการหลายคนในระหว่างที่โจทก์ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นั้น โจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองว่าโจทก์โยกย้ายข้าราชการหลายคนจริง คงอ้างเพียงว่าเฉพาะนายวรวิทย์ เป็นข้าราชการระดับ 9 การโยกย้ายอยู่ในอำนาจปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสืบสวนและสอบสวนได้ความ หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยอันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย โดยที่โจทก์ยังมิได้ถูกเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่การดำเนินคดีก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดอายุความ ทั้งการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

สรุป

ข่าวเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและมีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนพื้นที่สวนป่าเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม และข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 นำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของตนเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบสวนและสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อจำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสืบสวนและสอบสวนได้ความ หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยอันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย โดยที่โจทก์ยังมิได้ถูกเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่การดำเนินคดีก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดอายุความ ทั้งการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)

Facebook Comments