Home ข่าวสาร สัญญารับเหมาก่อสร้างเลิกกัน คู่สัญญากลับคืนฐานะเดิม ?

สัญญารับเหมาก่อสร้างเลิกกัน คู่สัญญากลับคืนฐานะเดิม ?

1328

สัญญารับเหมาก่อสร้างเลิกกัน คู่สัญญากลับคืนฐานะเดิม ?

บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนี้คือ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๓๙๑  เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่

ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้

ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น

การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นตัวอย่างให้ศึกษา มีดังต่อไปนี้  คือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๖๑๘/๒๕๕๒

เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว กฎหมายบังคับให้คู่สัญญาต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิม การกำหนดค่าของงานที่จะต้องชดใช้แก่กัน มิใช่เป็นค่าตอบแทนหรือค่าเสียหาย แต่เป็นหนทางหนึ่งที่จะสามารถทำให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ส่วนค่าของงานที่จะชดใช้แก่กันนั้น ก็ต้องพิจารณาจากมูลค่างานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยตามความจริง จะยึดเอาค่าจ้างที่จะต้องชำระตามงวดที่กำหนดไว้ในสัญญาที่เลิกกันแล้วมาเป็นหลักเกณฑ์อีกไม่ได้ เพราะค่าจ้างที่กำหนดให้ชำระแก่กันตามสัญญานั้นอาจมีการกำหนดสิ่งที่มิใช่ค่าของงานลงไปด้วย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสี่ บัญญัติว่า การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ และในสัญญาจ้าง ข้อ 20 กำหนดให้จำเลยสามารถเรียกค่าปรับในกรณีที่โจทก์ส่งมอบงานล่าช้าในอัตราวันละ 31,880 บาท แม้จำเลยจะบอกเลิกสัญญากับโจทก์แล้วก็ตาม ดังนั้น โจทก์จึงต้องเสียค่าปรับกรณีส่งมอบงานล่าช้าแก่จำเลย และต้องนำมาหักจากค่าของงานที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ แต่การที่โจทก์จำเลยตกลงกันว่า จะใช้เงินจำนวนหนึ่ง เมื่อไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควรก็ดี ถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตามมาตรา 383

หนังสือค้ำประกันในวงเงินจำนวน 900,000 บาท เป็นหนังสือค้ำประกันที่โจทก์นำมอบให้แก่จำเลย เพื่อเป็นการปฏิบัติตามสัญญา รวมถึงการประกันความชำรุดเสียหายของงานจ้างที่อาจจะเกิดขึ้นภายใน 2 ปี นับแต่วันส่งมอบงาน หากไม่มีความเสียหายหรือโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยครบถ้วนแล้ว จำเลยจึงจะคืนหนังสือค้ำประกันแก่โจทก์ ทั้งจำเลยยังมิได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ธนาคารใช้เงินแก่จำเลยตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าว จึงถือว่าจำเลยริบเงิน 900,000 บาท มาเป็นการชำระค่าเสียหายแก่จำเลยแล้วไม่ได้

 

 

ดังนั้นพอสรุปได้ว่า การเลิกสัญญา คู่สัญญาจะกลับคืนสู่ฐานะเดิมกันอย่างไรนั้น ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391ซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นกรณี

Facebook Comments