โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 137, 172, 173, 326
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 87 (ที่ถูก มาตรา 56) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเข้าแจ้งความเป็นหลักฐานต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2546 ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยพิพาทสิทธิในที่ดินพิพาทกับนางสมพงษ์ และทราบดีว่านางสมพงษ์สร้างบ้านเลขที่ 74 ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2531 แต่มิได้ดำเนินการทางแพ่งตามที่ลงบันทึกรายงานประจำวันเป็นหลักฐานไว้ กลับเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนซ้ำอีกโดยอ้างว่าเพิ่งทราบว่าโจทก์ปลูกสร้างบ้านเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 อันเป็นการนำความเท็จใส่ความโจทก์นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่านางสมพงษ์กับจำเลยยังมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนโดยต่างกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตน โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความรับว่า บ้านเลขที่ 74 ปลูกสร้างแบบยกใต้ถุนสูงมาตั้งแต่ปี 2531 โดยมีนายพยุงศักดิ์ เป็นเจ้าบ้านตามสำเนาทะเบียนบ้าน ภายหลังปลูกสร้างประมาณ 3 ปี นางสมพงษ์ยกให้โจทก์เข้าอยู่อาศัย จนกระทั่งในปี 2545 โจทก์จึงย้ายทะเบียนบ้านเข้าเป็นเจ้าบ้านตามสำเนารายการเกี่ยวกับบ้าน และในปี 2546 จึงต่อเติมชั้นล่างโดยมิได้ก่อสร้างขึ้นใหม่ดังที่จำเลยแจ้งความ เห็นว่า การที่โจทก์เข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยได้รับสิทธิจากนางสมพงษ์ โจทก์จึงเป็นผู้สืบสิทธิจากนางสมพงษ์ซึ่งมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทอยู่เช่นเดิม แม้ข้อโต้แย้งในปี 2531 ระหว่างจำเลยกับนางสมพงษ์จะได้ข้อยุติตามคำแนะนำของพนักงานสอบสวนให้คู่กรณีดำเนินการในทางแพ่ง แต่เมื่อยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการฟ้องคดีแพ่ง ก็หาได้ทำให้ข้อโต้แย้งถึงสิทธิเหนือที่ดินพิพาทเดิมระงับลงแต่ประการใด ดังนั้นการที่โจทก์เข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนางสมพงษ์ จึงต้องถือว่าโจทก์ยังโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทกับจำเลยเช่นเดียวกับนางสมพงษ์ การที่จำเลยเข้าแจ้งความเป็นหลักฐานอันเป็นการอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทเพื่อดำเนินคดีแก่โจทก์ต่อไป จึงเป็นการใช้สิทธิแห่งตนตามกฎหมายเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
- สรุป
- จำเลยพิพาทสิทธิในที่ดินพิพาทกับ ส. การที่โจทก์เข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยได้รับสิทธิจาก ส. โจทก์จึงเป็นผู้สืบสิทธิจาก ส. ซึ่งมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิที่ดินพิพาทอยู่เช่นเดิม แม้ข้อโต้แย้งในปี 2541 ระหว่างจำเลยกับ ส. จะได้ข้อยุติตามคำแนะนำของพนักงานสอบสวนให้คู่กรณีดำเนินการในทางแพ่ง แต่เมื่อยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการฟ้องคดีแพ่งก็หาได้ทำให้ข้อโต้แย้งถึงสิทธิเหนือที่ดินพิพาทเดิมระงับลงแต่ประการใด ดังนั้น การที่โจทก์เข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ส. จึงต้องถือว่าโจทก์ยังโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทกับจำเลยเช่นเดียวกับ ส. การที่จำเลยเข้าแจ้งความเป็นหลักฐานอันเป็นการอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทเพื่อดำเนินคดีแก่โจทก์ต่อไป จึงเป็นการใช้สิทธิแห่งตนตามกฎหมายเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท