Home คดีอาญา จอดรถกลางคืน ท้ายรถล้ำเส้นโดยไม่เปิดไฟ ถือเป็นการกระทำโดยประมาทหรือไม่

จอดรถกลางคืน ท้ายรถล้ำเส้นโดยไม่เปิดไฟ ถือเป็นการกระทำโดยประมาทหรือไม่

4629

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกทะเบียน น.ฐ.01862 ซึ่งเช่าซื้อมา คนขับรถของจำเลยซึ่งไม่ทราบชื่อเพราะหลบหนีไป ได้ขับรถดังกล่าวไปจอดไว้บนถนนมิตรภาพในท้องที่ตำบลบางหว้า ด้วยความประมาท โดยจอดไว้ข้างถนนด้านซ้ายให้ท้ายรถยื่นออกไปบนผิวจราจรและในเวลากลางคืน ไม่ได้จุดโคมไฟข้างหน้าและข้างหลังรถ ไม่มีสัญญาณไฟหรือเครื่องหมายใด ๆ เป็นเหตุให้คนขับรถของโจทก์ซึ่งขับไปตามถนนมิตรภาพในเวลากลางคืนไม่เห็นว่ามีรถจอดอยู่ ได้ชนท้ายรถบรรทุกของจำเลย ทำให้รถของโจทก์เสียหายจำเลยเป็นนายจ้างของคนขับรถซึ่งกระทำในทางการที่จ้าง ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 17,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่าเหตุที่เกิดขึ้น เกิดจากความประมาทของคนขับรถโจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ตามฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ลักษณะที่รถจำเลยจอดอยู่นั้น ได้ความตามคำพยานโจทก์ที่นั่งไปในรถโจทก์ในคืนเกิดเหตุ และร้อยตำรวจโทศรี ฉัตรเมืองปัก พนักงานสอบสวนผู้ไปดูสถานที่เกิดเหตุว่ารถจำเลยจอดที่ริมถนนด้านซ้าย หัวรถหันไปทางจังหวัดขอนแก่น ท้ายรถด้านขวาล้ำออกไปในผิวจราจรประมาณ 1 เมตร ยังเหลือผิวจราจรอีก 6 เมตร ซึ่งรถสามารถแล่นสวนกันได้ ที่รถไม่มีเครื่องหมายใด ๆ ที่แสดงว่ามีรถจอดอยู่ รถโจทก์จึงชนท้ายรถจำเลยส่วนที่ล้ำออกไป การจอดรถล้ำผิวจราจรในเวลากลางคืนโดยไม่มีเครื่องหมายแสดงให้เห็นเช่นนี้ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 23 ที่ใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุ ซึ่งบัญญัติว่า “เวลากลางคืนรถใดจอดในทาง ณ ที่ซึ่งไม่มีแสงสว่างส่องไปถึงรถนั้นให้เห็นได้ในระยะไกลห้าสิบเมตร ต้องเปิดหรือจุดไฟให้มีแสงพอให้เห็นว่ารถนั้นจอดอยู่” อันเป็นบทบัญญัติเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่บุคคลอื่น และการปฏิบัติตามกฎหมายนี้ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้ขับรถ โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจะมีผู้อื่นมาช่วยเหลือในการจอดรถนั้นหรือไม่ ฉะนั้น ข้อที่ว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้ช่วยลากรถของจำเลยที่เพลารถขาดจอดขวางทางจราจรไปแอบไว้ข้างทาง จะเป็นประเด็นหรือไม่ และเป็นความจริงหรือไม่ ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่เป็นเหตุให้ผู้ขับรถของจำเลยพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องจัดการให้มีแสงสว่างพอให้เห็นรถที่จอดนั้นได้ เหตุที่เกิดขึ้นจึงเนื่องจากความผิดของผู้ขับรถจำเลยที่ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายส่วนหนึ่ง แต่นอกจากนี้ตามคำพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงยังได้ความว่าเมื่อนายใหญ่ ชื่นศิริ คนขับรถของโจทก์เห็นรถที่แล่นสวนมาใช้ไฟสูง ทำให้นายใหญ่มองไม่เห็นทางข้างหน้า ก็ควรที่จะพยายามหยุดรถเพื่อความปลอดภัย แต่กลับขับรถต่อไปด้วยอัตราความเร็วสูง ดังที่ปรากฏจากสภาพของรถโจทก์ที่ยับเยินหลังจากชนกับรถจำเลยที่จอดอยู่แล้ว จึงเห็นว่านายใหญ่ได้ขับรถไปโดยประมาท มิได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอในภาวะเช่นนั้นด้วยเมื่อความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของฝ่ายโจทก์ด้วยเช่นนี้ พิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรให้จำเลยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามฟ้องแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง เป็นเงิน 8,750 บาท

พิพากษาแก้ ให้จำเลยใช้เงินให้โจทก์ 8,750 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ

สรุป

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 23 ซึ่งบัญญัติว่า ‘เวลากลางคืนรถใดจอดในทาง ณ ที่ซึ่งไม่มีแสงสว่างส่องไปถึงรถนั้นให้เห็นได้ในระยะไกลห้าสิบเมตรต้องเปิดหรือจุดไฟให้มีแสงพอให้เห็นว่ารถนั้นจอดอยู่’ นั้น เป็นบทบัญญัติเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่บุคคลอื่น และการปฏิบัติตามกฎหมายนี้ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้ขับรถ โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจะมีผู้มาช่วยเหลือในการจอดรถนั้นหรือไม่

รถของจำเลยบรรทุกหินไปส่ง ระหว่างทางเพลารถขาด รถจอดอยู่ริมถนนด้านซ้ายท้ายรถด้านขวาล้ำออกไปในผิวจราจรประมาณ1 เมตร ยังเหลือผิวจราจรอีก 6 เมตร ซึ่งรถสามารถแล่นสวนกันได้แม้จะมีเจ้าพนักงานตำรวจช่วยลากรถของจำเลยไปจอดดังกล่าวก็ไม่เป็นเหตุให้ผู้ขับรถของจำเลยพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องจัดการให้มีแสงสว่างพอให้เห็นรถที่จอดนั้นได้ในเวลากลางคืน เมื่อรถของโจทก์แล่นมาชนท้ายรถของจำเลยส่วนที่ล้ำออกไป เป็นเหตุให้รถเสียหายและมีคนได้รับอันตราย เหตุที่เกิดขึ้นย่อมเนื่องมาจากความผิดของผู้ขับรถจำเลยที่ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายส่วนหนึ่ง แต่คนขับรถของโจทก์ซึ่งเห็นรถที่แล่นสวนมาใช้ไฟสูง มองไม่เห็นทางข้างหน้า แทนที่จะพยายามหยุดรถเพื่อความปลอดภัยกลับขับรถต่อไปด้วยความเร็วสูงจนชนท้ายรถจำเลย ย่อมเป็นความประมาทของคนขับรถโจทก์ด้วย การกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยชดใช้ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 422ประกอบด้วยมาตรา 223

 

Facebook Comments