Home บทความคดีแพ่ง ออกเช็ค เพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ที่ทุนกองกลางเกินสามแสน ผิดอาญาหรือไม่

ออกเช็ค เพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ที่ทุนกองกลางเกินสามแสน ผิดอาญาหรือไม่

1151

ออกเช็ค เพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ที่ทุนกองกลางเกินสามแสน ผิดอาญาหรือไม่

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 30 ตุลาคม 2539จำนวน 150,000 บาท แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ แต่เมื่อเช็คถึงกำหนดเรียกเก็บเงินธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 159,375 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน150,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย มูลหนี้ตามเช็คระงับไปแล้ว และเป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 150,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 1 กันยายน 2540) ต้องไม่เกิน 9,375 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเฉพาะข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่า การชำระหนี้ค่าแชร์ตามฟ้องเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยข้อกฎหมายจะต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติในศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์และสามีจำเลยเป็นลูกวงแชร์ โดยมีนายชัชรินทร์ สุทธิภักดีเป็นนายวงแชร์ สามีจำเลยประมูลแชร์ไปได้ก่อน โจทก์สั่งจ่ายเช็คให้ตามข้อตกลงในการเล่นแชร์ ต่อมาโจทก์มีสิทธิได้เงินค่าแชร์ในงวดสุดท้าย จำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสีลม ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2539 จำนวนเงิน 150,000 บาท มอบให้แก่สามีจำเลยแล้วสามีจำเลยนำไปมอบให้แก่นายวงแชร์ และนายวงแชร์ได้สลักหลังส่งมอบเช็คดังกล่าวให้โจทก์ตามข้อตกลง แต่เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระโจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาพลับพลาไชย เพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน และวงแชร์รายนี้มีทุนกองกลางเป็นจำนวนเงิน 1,800,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.3 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้

(1) เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง

(2) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน

(3) มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

ฯลฯคดีนี้แม้นายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์โดยมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันมากกว่าสามแสนบาท ซึ่งมากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6(3) ก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวคงมีบทบัญญัติตามมาตรา 7 เท่านั้นที่ให้สิทธิแก่ฝ่ายสมาชิกวงแชร์ฝ่ายเดียวที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 6 ส่วนสมาชิกผู้เข้าเล่นแชร์ด้วยกันตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์พ.ศ. 2534 หาได้บทบัญญัติห้ามเล่นแชร์แต่อย่างใดไม่ ทั้งการเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่ง อันเกิดจากการตกลงกันระหว่างผู้เล่นที่จะชำระเงินให้แก่ประมูลแชร์ได้ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อสามีจำเลย ซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปได้ก่อนแล้วมีหน้าที่ผูกพันตามข้อตกลงต้องชำระเงินคืน โดยสามีจำเลยนำเช็คที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมอบไว้แก่นายวงแชร์เพื่อส่งมอบให้แก่ลูกวงแชร์ที่จะประมูลแชร์ได้ในงวดต่อ ๆ ไป เช็คดังกล่าวของจำเลยจึงมีมูลหนี้ตามสัญญาเล่นแชร์ดังกล่าวอันบังคับได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ได้รับเช็คพิพาทที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายจากนายวงแชร์และเรียกเก็บเงินไม่ได้จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ การชำระหนี้ค่าแชร์ตามฟ้องหาเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตามฎีกาของจำเลยไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

สรุปพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ฯ มาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดที่ระบุไว้ ในมาตรา 6 และมีมาตรา 7 ให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ฝ่ายเดียวที่จะฟ้องคดี หรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่ฝ่าฝืน มาตรา 6 ไว้เท่านั้น ส่วนสมาชิกผู้เข้าเล่นแชร์ด้วยกันหาได้มีบทบัญญัติ ห้ามเล่นแชร์ไม่ ทั้งการเล่นแชร์เป็นสัญญาเกิดจากการตกลงกันระหว่าง ผู้เล่นที่จะชำระเงินให้แก่ผู้ประมูลแชร์ได้ จึงมีผลผูกพันและบังคับกันได้ ตามกฎหมาย การที่ผู้เล่นซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปได้ก่อนนำเช็คของจำเลย มาชำระให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ได้ การชำระหนี้ค่าแชร์ดังกล่าว จึงหาเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายไม่

Facebook Comments