Home บทความคดีแพ่ง ออกเช็คเพื่อชำหนี้แทนบุคคลอื่น มีความผิดทางอาญาหรือไม่

ออกเช็คเพื่อชำหนี้แทนบุคคลอื่น มีความผิดทางอาญาหรือไม่

2242

ออกเช็คเพื่อชำหนี้แทนบุคคลอื่น มีความผิดทางอาญาหรือไม่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัดสาขาแจ้งวัฒนะ ลงวันที่ 1 กันยายน 2536 จำนวนเงิน300,000 บาท มอบให้บริษัทอีซูซุสงวนไทย มอเตอร์เซลส์ จำกัดผู้เสียหาย เพื่อการชำระหนี้ค่าซื้อรถยนต์อันเป็นหนี้มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แต่เมื่อถึงกำหนดธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา บริษัทอีซูซุสงวนไทยมอเตอร์เซลส์ จำกัดผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4(3), (4) จำคุก 1 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 มอบให้แก่โจทก์ร่วม ต่อมาเช็คถึงกำหนดโจทก์ร่วมได้นำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)สาขาบางเขน เพื่อให้เรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ให้เหตุผลว่า “บัญชีปิดแล้ว” ตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.2 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อเป็นการชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถยนต์กับค่าเสียหายแทนนายมาโนชผู้เช่าซื้ออันเป็นหนี้มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายชลิต สุขสุศรี ผู้รับมอบอำนาจให้ไปร้องทุกข์เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อระหว่างเดือนมีนาคม 2532ถึงเดือนตุลาคม 2533 นายมาโนช สุขใจ ซึ่งเป็นพี่ชายจำเลยมาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ จำนวน 5 คันกับรถยนต์กระบะ 1 คันจากโจทก์ร่วมโดยทำสัญญาเช่าซื้อไว้รวม 6 ฉบับ เอกสารหมาย จ.7ถึง จ.12 ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2536 จำเลยได้ออกเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถยนต์ทั้ง 6 คันดังกล่าว รวมทั้งค่าเสียหายเมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดชำระเงิน ปรากฏว่าเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้ เพราะธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.2 และโจทก์กับโจทก์ร่วมมีนางสาวมณีรัตน์ สุวรรณรอด เจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีของบริษัทโจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถยนต์ทั้ง 6 คันและค่าเสียหาย และก่อนที่จำเลยจ่ายเช็คพิพาทดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คและเปลี่ยนเช็คให้แก่โจทก์ร่วมหลายครั้ง เห็นว่า ขณะที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมนั้นนายมาโนชผู้เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ร่วมได้ผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อกับโจทก์ร่วมแล้ว แม้ตามสัญญาเช่าซื้อที่นายมาโนชทำกับโจทก์ร่วมตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.12 ข้อ 8 และเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 11 จะระบุว่าหากผู้เช่าซื้อผิดนัดค้างชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งหรือข้อกำหนดอื่นแล้วให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อยกเลิกหรือเพิกถอนทันทีก็ตาม ก็หาทำให้หนี้ที่เกี่ยวพันกันหรือค่าเสียหายที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากผู้เช่าซื้อผิดสัญญาระงับหรือสิ้นความผูกพันไปไม่ เพราะหนี้ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าที่ติดค้างหรือค่าเสียหายก็ตาม ผู้เช่าซื้อก็ยังคงจะต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมอยู่ ดังนั้น การที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ร่วม โดยยอมผูกพันตามหนี้ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นต่อโจทก์ร่วม ย่อมถือว่าหนี้ของโจทก์ร่วมตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทมีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย มิใช่ไม่มีหนี้อยู่ในขณะนั้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยไว้เพราะเป็นความรับผิดตามกฎหมายคนละเรื่องกัน และเมื่อปรากฏว่าเช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้เพราะธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยจำเลยมีเจตนากระทำผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น หรือในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีจะพึงให้ใช้เงินได้ต้องด้วยมาตรา 4(1)(2) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 จำเลยย่อมมีความผิดตามฟ้อง ส่วนที่จำเลยนำสืบอ้างว่าจำเลยออกเช็คพิพาทแทนเช็คของนางวรรณา สุขใจพี่สาวของจำเลยเพื่อเป็นการค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวนั้นเห็นว่า จำเลยไม่มีหลักฐานเอกสารใดมาพิสูจน์ให้เห็นจริงตามข้ออ้างเพียงแต่เบิกความลอย ๆ แม้จำเลยจะมีพยานจำเลยรวม2 ปากมาเบิกความสนับสนุนคำของตนก็ตาม แต่พยานจำเลยนั้นล้วนเกี่ยวข้องกับจำเลยโดยเป็นพี่น้องกัน จึงมีน้ำหนักน้อย พยานหลักฐานของจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น แต่เนื่องจากไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กับพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วสมควรให้โอกาสแก่จำเลยเพื่อกลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษจำคุกให้จำเลย แต่เพื่อให้จำเลยหลาบ จำสมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง”

พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(2) จำคุก1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

สรุป

ขณะที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมนั้นม.พี่ชายจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ร่วมได้ผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อกับโจทก์ร่วมแล้ว แม้ตามสัญญาเช่าซื้อที่ ม.ทำกับโจทก์ร่วมจะระบุว่าหากผู้เช่าซื้อผิดนัดค้างชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งหรือข้อกำหนดอื่นแล้วให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อยกเลิกหรือเพิกถอนทันทีก็ตาม ก็หาทำให้หนี้ที่เกี่ยวพันกันหรือค่าเสียหายที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากผู้เช่าซื้อผิดสัญญาระงับหรือสิ้นความผูกพันไปไม่ เพราะหนี้ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าที่ติดค้างหรือค่าเสียหายผู้เช่าซื้อก็ยังคงจะต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมอยู่ การที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่ โจทก์ร่วม โดยยอมผูกพันตามหนี้ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นต่อโจทก์ร่วม ย่อมถือว่าหนี้ของโจทก์ร่วมตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทมีอยู่จริง และบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิด จากการใช้เช็คมาตรา 4(1) และ (2)

Facebook Comments