คดีนี้ ศาลชั้นต้นรวมการพิจารณาพิพากษากับคดีหมายเลขดำที่ 1292/2537 ซึ่งยุติไปแล้ว คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะสำนวนคดีนี้ ซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายเลิศชัย เจริญอาภรณ์วัฒนา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ข้อหาออกเช็คตามคดีหมายเลขดำที่ 1292/2537 ให้จำคุก 1 เดือน ข้อหาออกเช็คตามคดีหมายเลขดำที่ 1293/2537 ให้จำคุก 5 เดือน รวมจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 1293/2537 ของศาลชั้นต้น สำหรับสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 1292/2537 ของศาลชั้นต้นนั้น ให้ปรับ 7,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2เป็นการกระทำผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ร่วมเบิกความยืนยันแล้วว่าได้ประทับตราวันที่ต่อหน้าจำเลย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ทรงเช็คสามารถลงวันที่ในเช็คได้ตามวันที่ซึ่งประสงค์ผูกพันกันจริง โจทก์ร่วมย่อมสามารถลงวันที่ที่ถูกต้องได้หากเช็คยังไม่ลงวันที่สั่งจ่ายเงินตามเช็ค เห็นว่าโจทก์มีพยานคือตัวโจทก์ร่วมเบิกความว่า พยานเป็นผู้ประทับวันเดือนปีในเช็คเอกสารหมาย จ.2 ตามคำสั่งของจำเลย จำเลยเบิกความว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.2 ให้โจทก์ร่วมโดยมิได้ลงวันเดือนปีเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้โจทก์ร่วมลงวันเดือนปีในเช็คพิพาทโดยจำเลยไม่รู้เห็นยินยอม ตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยแสดงว่าขณะออกเช็คเอกสารหมาย จ.2ให้โจทก์ร่วมยังไม่มีการลงวันที่สั่งจ่ายไว้จึงย่อมถือได้ว่าไม่มีวันเดือนปีที่ผู้ออกเช็คกระทำความผิด การที่โจทก์ร่วมประทับตราวันเดือนปีลงในเช็คเอกสารหมาย จ.2 แม้จะฟังว่าจำเลยยินยอม ก็มีผลเพียงเพื่อให้เช็คมีรายการสมบูรณ์ตามกฎหมายใช้สิทธิฟ้องร้องกันได้ในทางแพ่งเท่านั้นการที่โจทก์ร่วมนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินในขณะที่จำเลยไม่มีเงินในบัญชีเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามเช็ค จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน
สรุป
ขณะที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้โจทก์ร่วมยังไม่มีการ ลงวันที่สั่งจ่ายไว้จึงย่อมถือได้ว่าไม่มีวันเดือนปีที่ผู้ออกเช็คกระทำความผิด การที่โจทก์ร่วมประทับตราวันเดือนปีลงในเช็ค แม้จะฟังว่าจำเลยยินยอม ก็มีผลเพียงเพื่อให้เช็คมีรายการสมบูรณ์ตามกฎหมายใช้สิทธิฟ้องร้องกันได้ในทางแพ่งเท่านั้น การที่โจทก์ร่วมนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินในขณะที่จำเลยไม่มีเงินในบัญชีเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามเช็คจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534