Home คดีอาญา จอดรถข้างถนน เวลากลางคืนไม่เปิดไป ถือว่าประมาทหรือไม่

จอดรถข้างถนน เวลากลางคืนไม่เปิดไป ถือว่าประมาทหรือไม่

3194

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยานายทองหล่อ ปิยางสุ ผู้ตายโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นบุตร จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยทั้งสามมีหน้าที่ตรวจตราทางหลวงและงานทางร่วมกัน จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมซ่อมแซมบำรุงรักษาทางหลวงแผ่นดินและดูแลรักษารถล้อเลื่อน หม้อเคี่ยวยางอันเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่และคำสั่งของจำเลยที่ 3 วันที่ 19 สิงหาคม 2508 เวลากลางวันและกลางคืนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ซ่อมแซมบูรณะทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 111 ระหว่างสามแยกบ้านเนียงถึงอำเภอยะหา โดยมิได้ปิดห้ามยานพาหนะสัญจรไปมา จำเลยทั้งสองได้นำเอารถเคี่ยวยางสำหรับลาดถนนไปจอดไว้กลางถนนในเวลากลางคืน และเป็นที่ไม่มีแสงสว่างถึงรถให้เห็นในระยะ50 เมตร ด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยดังกล่าว นายทองหล่อปิยางสุ ขับขี่รถจักรยานยนต์มาในเส้นทางดังกล่าว มีนายมานพ ไชยสุวรรณซ้อนท้ายมาเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์นั้นชนกับรถเคี่ยวยางที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 นำมาจอดไว้โดยไม่จุดไฟ รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย นายทองหล่อถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ คือ ค่าทำศพ ค่าแรงงานค่าอุปการะเลี้ยงดู รวม 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยมีเหตุอันควรที่จะนำรถเคี่ยวยางไปจอดไว้บนเขตทางและจอดไว้ชิดขอบทาง ทั้งได้จุดไฟไว้ในเวลาค่ำคืนนายทองหล่อผู้ตายขับขี่รถจักรยานยนต์ชนกับรถยนต์ที่ขับสวนทางมาแล้วตกรถตาย แม้จะฟังว่าผู้ตายขับขี่ชนรถเคี่ยวยางจริง จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดเพราะเป็นความประมาทของผู้ตายที่ขับรถด้วยความเร็วสูง เวลาเมาสุราโจทก์เรียกค่าเสียหายมากเกินควร โจทก์ควรได้รับชดใช้ทั้งหมด 10,500 บาทเท่านั้น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คืนเกิดเหตุไม่มีการจุดไฟสัญญาณไว้ที่รถเคี่ยวยาง การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นการประมาท จำเลยที่ 3ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ผู้ตายขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงด้วยอาการมึนเมามีส่วนประมาทด้วยและมีความประมาทมากกว่า จึงแบ่งความรับผิดเป็น 3 ส่วน ให้จำเลยรับผิดส่วนหนึ่ง ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์รวม 36,833.33 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จส่วนค่าขาดแรงงานโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นชัด จึงไม่ให้

โจทก์จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยศาลชั้นต้นทุกประการ เว้นแต่ทรัพย์สินที่ตัวผู้ตายคิดเป็นเงิน 4,500 บาทที่สูญหายไปนั้นไม่เชื่อว่าเป็นความจริง พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน 51,333.33 บาท

โจทก์จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นช่างประจำตอน จำเลยที่ 2เป็นลูกจ้างรายวันอยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ที่ 2เป็นพนักงานของกรมทางหลวง จำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้นำรถเคี่ยวยางจอดไว้ในทางเวลากลางคืนโดยไม่จุดไฟให้มีแสงพอให้เห็นในระยะไกล 50 เมตร ถือว่าผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 23 ข้อเท็จจริงต้องฟังว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ที่ 2 อย่างมากที่ได้ละเว้นไม่กระทำการอันควรกระทำตามหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับขี่ไปชนเกิดความเสียหายขึ้น ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรมในรัฐบาลผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดร่วมในผลแห่งการละเมิดด้วย

จำเลยที่ 1 ที่ 2 จอดรถขวางถนนโดยมิได้จุดโคมไฟในเวลาค่ำคืนเป็นความประมาทของฝ่ายจำเลยอันเป็นมูลก่อให้เกิดความเสียหายฝ่ายผู้ตายก็ขับขี่รถมาด้วยอัตราความเร็วค่อนข้างสูงในเวลามึนเมาเป็นความประมาทของผู้ตายด้วย ฝ่ายไหนจะต้องรับผิดเพียงใดนั้นกฎหมายให้พิจารณาถึงพฤติการณ์ด้วยว่า ฝ่ายไหนก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร โจทก์เป็นฝ่ายเสียหายมาก แต่เป็นฝ่ายประมาทน้อยกว่า จำเลยเสียหายน้อย แต่เป็นฝ่ายประมาทมากกว่า จึงเห็นควรแบ่งค่าเสียหายทั้งหมดออกเป็น 3 ส่วน ให้จำเลยรับผิด 2 ใน 3 ส่วน

ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นนี้จะต้องพิจารณาตามสมควรตามควรความจำเป็นและตามฐานะของผู้ตาย ทั้งต้องพิจารณาถึงประเพณีการทำศพตามลัทธินิยมประกอบด้วย และต้องไม่ใช่รายการที่ฟุ่มเฟือยเกินไป หาใช่ว่าเมื่อจ่ายไปเท่าไรแล้วจะเรียกร้องเอาได้หมดเพราะจะเป็นการเปิดช่องให้เพิ่มความเสียหายเพื่อเรียกร้องให้จำเลยชดใช้

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินให้โจทก์117,666.66 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ

สรุป

จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นพนักงานของกรมทางหลวงจำเลยที่ 3 ได้ทำการซ่อมทางหลวงและนำรถเคี่ยวยางจอดไว้ในทางเวลากลางคืนโดยไม่จุดไฟไว้ ถือเป็นผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477มาตรา 23 เป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ละเว้นไม่กระทำการอันควรกระทำตามหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับขี่ไปชนเกิดความเสียหายขึ้น ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดร่วมในผลแห่งการละเมิดด้วย

จำเลยและผู้ตายต่างประมาทด้วยกัน ฝ่ายไหนจะรับผิดเพียงใดนั้นต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ด้วยว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด โจทก์เป็นฝ่ายเสียหายมากแต่เป็นฝ่ายประมาทน้อยกว่า จำเลยเสียหายน้อยแต่ประมาทมากกว่า เห็นควรแบ่งค่าเสียหายออกเป็น 3 ส่วน ให้จำเลยรับผิด 2 ใน 3 ส่วน

ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นนี้จะต้องพิจารณาตามสมควรตามความจำเป็นและตามฐานะของผู้ตาย ทั้งต้องพิจารณาถึงประเพณีการทำศพตามลัทธินิยมประกอบด้วย และต้องไม่ใช่รายการที่ฟุ่มเฟือยเกินไป หาใช่ว่าเมื่อจ่ายไปเท่าไรแล้วจะเรียกเอาได้หมด

Facebook Comments