Home บทความคดีแพ่ง ท้ายฟ้องอาญา พิมพ์ลายนิ้วมือ ลงชื่อรับรอคนเดียวได้หรือไม่

ท้ายฟ้องอาญา พิมพ์ลายนิ้วมือ ลงชื่อรับรอคนเดียวได้หรือไม่

1938

ท้ายฟ้องอาญา พิมพ์ลายนิ้วมือ ลงชื่อรับรอคนเดียวได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2550/2522

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งแปดคนว่าร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ และจำเลยที่ 8ใช้เอกสารสิทธิปลอม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,265, 268, 91 และ 83 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วสั่งประทับฟ้อง

จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งแปลงปลอมเอกสารฟังได้ว่าจำเลยที่ 8 ใช้เอกสารสิทธิปลอม พิพากษาว่าจำเลยที่ 8มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ประกอบด้วยมาตรา 265 จำคุก 2 ปี จำเลยนอกนั้นและข้อหานอกจากนี้ให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 8 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำฟ้องโจทก์ไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 8ไม่จำต้องวินิจฉัย พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่ 8 เสียด้วย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่มาสู่ศาลฎีกาคงมีว่าฟ้องของโจทก์ถือได้ว่าเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปรากฏว่าท้ายฟ้องของโจทก์ลงชื่อโดยพิมพ์ลายนิ้วมือหัวแม่มือ โดยมีนายวิชาลงชื่อเป็นพยานแต่ผู้เดียวซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 วรรคสาม บังคับไว้ว่าลายพิมพ์นิ้วมือต้องมีพยานลงลายมือชื่อสองคน จึงเสมอกับลงลายมือชื่อ เมื่อลายพิมพ์นิ้วมือท้ายฟ้องของโจทก์มีพยานรับรองเพียงคนเดียวจะถือว่าลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์เสมอกับลายมือชื่อไม่ได้ เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) ฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องตามกฎหมาย เมื่อความปรากฎขึ้นในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ว่าฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องตามกฎหมาย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าตัวโจทก์ได้เบิกความในคดีนี้แล้วว่าเป็นโจทก์ในคดีนี้จริง ย่อมได้ชื่อว่าโจทก์ได้ลงชื่อและเป็นฟ้องแล้วนั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 ก็ได้บัญญัติไว้ชัดแล้วว่าฟ้องจะต้องประกอบด้วยอะไรบ้างจึงจะเป็นฟ้อง เมื่อไม่ปฏิบัติตามย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นฟ้องตามกฎหมาย

พิพากษายืน

  • สรุป
  • ฟ้องโจทก์ลงชื่อโดยพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือ แต่มีผู้ลงชื่อเป็นพยานรับรองเพียงผู้เดียวจะถือว่าลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ดังกล่าวเสมอกับลายมือชื่อไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 วรรค 3 ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) การที่โจทก์มาเบิกความว่าเป็นโจทก์จริงก็ไม่ทำให้ฟ้องที่ไม่ชอบนั้นเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
Facebook Comments