โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 136, 138
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 136, 138 (ที่ถูกมาตรา 138 วรรคสอง) เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ปรับ 1,000 บาท ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 2 เดือน ปรับ1,000 บาท คำให้การรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน ปรับ500 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง เป็นเงิน 2,000 บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาเพียงประการเดียวว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อสิบตำรวจตรีขจรศักดิ์ สมศักดิ์ เจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ว่า “แน่จริงมึงถอดเสื้อมาต่อยกับกูเลย” เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำอันเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของความผิดตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวก็คือ “ดูหมิ่น”ซึ่งหมายถึงการด่า ดูถูกเหยียดหยาม หรือสบประมาทให้อับอาย พิจารณาถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อสิบตำรวจตรีขจรศักดิ์แล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นการกล่าวท้าทายให้สิบตำรวจตรีขจรศักดิ์ออกมาต่อสู้กับจำเลย อันเป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเท่านั้นยังไม่ถึงขั้นที่พอจะให้เข้าใจว่าจำเลยมีความมุ่งหมายที่จะด่า ดูถูกเหยียดหยามหรือสบประมาทให้สิบตำรวจตรีขจรศักดิ์อับอายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดตามมาตราดังกล่าวนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน
- สรุป
- การกระทำอันเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 คือ “ดูหมิ่น” ซึ่งหมายถึงการด่า ดูถูกเหยียดหยามหรือสบประมาทให้อับอายถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อ ข. เจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ว่า “แน่จริงมึงถอดเสื้อมาต่อยกับกูเลย” เป็นการกล่าวท้าทายให้ ข. ออกมาต่อสู้กับจำเลยเป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นที่พอจะให้เข้าใจว่าจำเลยมีความมุ่งหมายที่จะด่า ดูถูกเหยียดหยามหรือสบประมาทให้ ข. อับอายแต่อย่างใดการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136