ก่อสร้างเสร็จแล้ว ชำรุดบกพร่อง ผู้รับจ้างไม่ยอมซ่อม ผู้ค้ำประกัน ต้องร่วมรับผิดหรือไม่ ต้องฟ้องภายในกี่ปี
ความหมายของสัญญาจ้างทำของ
สัญญาว่าจ้างทำของนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้นสาระสำคัญของสัญญาจ้างทำของ มีดังนี้
- สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาต่างตอบแทน
กล่าวคือ ผู้รับจ้างจะต้องทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างต้อง ให้สินจ้างเพื่อผลงานนั้น ทั้งนี้สินจ้างดังกล่าวอาจเป็นเงินตราหรือทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้ตามแต่จะตกลงกัน
- สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่มุ่งถึงผลสำเร็จของงานที่ทำเป็นสำคัญ
กล่าวคือ วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างทำของ คือ “ผลสำเร็จของงาน” ไม่ใช่ต้องการ เฉพาะแต่แรงงานของผู้รับจ้างเท่านั้น เช่น จ้างก่อสร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ ติดกระจก ซ่อมหลังคาบ้าน จ้างตัดเสื้อผ้า หรือจ้างว่าความ เมื่อไม่ใช่การจ้างแรงงาน นายจ้างจึงไม่ต้อง รับผิดร่วมกับลูกจ้างใน ผลแห่งการละเมิดต่อบุคคลภายนอก ผู้รับจ้างจึงมีอิสระในการทำงาน มากกว่าลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงาน โดยที่ผู้รับจ้างไม่ได้อยู่ในความควบคุม บังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิจะสั่งงาน หรือบงการผู้รับจ้าง
- สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ
กล่าวคือ สัญญาจ้างทำของเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาตกลงกัน แม้ด้วยวาจากสามารถ ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ โดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด
บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนี้คือ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๙๓/๓๐ อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี
มาตรา ๖๐๑ ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นตัวอย่างให้ศึกษา ดังต่อไปนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๔๘๖/๒๕๕๒
ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีข้อตกลงว่า หากมีเหตุชำรุดบกพร่องหรือเสียหายเกิดขึ้นภายใน 2 ปี นับถัดจากวันที่ได้รับมอบงาน ซึ่งความชำรุดบกพร่องหรือเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้าง อันเกิดจากการใช้วัสดุที่ไม่ถูกต้องหรือทำไว้ไม่เรียบร้อย หรือทำไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชาผู้รับจ้างจะต้องรีบทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยโดยไม่ชักช้า หากผู้รับจ้างไม่กระทำหรือไม่ทำการแก้ไขให้ถูกต้องเรียบร้อยภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่จะทำการนั้นและหรือจ้างผู้อื่นให้ทำงานนั้นโดยผู้รับจ้างต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย เมื่อโจทก์พบความชำรุดบกพร่องและมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซ่อมภายใน 2 ปี นับถัดจากวันที่โจทก์รับมอบงานแล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ทำการซ่อมให้เรียบร้อยตามสัญญาถือว่าเป็นการผิดสัญญา โจทก์ย่อมฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดตามสัญญาจ้าง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 601
ดังนั้นพอสรุปได้ว่า ก่อสร้างเสร็จแล้ว ชำรุดบกพร่อง ผู้รับจ้างไม่ยอมซ่อม ย่อมเป็นการไม่ปฎิบัติตามสัญญา ผู้ค้ำประกันจึง ต้องร่วมรับผิดกับผู้ว่าจ้างด้วย และต้องฟ้องภายใน ๑๐ ปี
“