Home บทความคดีแพ่ง กรณีการชำระบัญชี ห้างหุ้นส่วนสามัญ ต้องกระทำภายในอายุความหรือไม่ ?

กรณีการชำระบัญชี ห้างหุ้นส่วนสามัญ ต้องกระทำภายในอายุความหรือไม่ ?

1790

กรณีการชำระบัญชี ห้างหุ้นส่วนสามัญ ต้องกระทำภายในอายุความหรือไม่ ?

บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ คือ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๐๖๑  เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วก็ให้จัดการชำระบัญชีเว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน หรือว่าห้างหุ้นส่วนนั้นศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย

 

ถ้าการเลิกห้างหุ้นส่วนนั้นได้เป็นไปโดยที่เจ้าหนี้เฉพาะตัวของผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้ให้คำบอกกล่าวก็ดี หรือโดยที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งล้มละลายก็ดี ท่านว่าจะงดการชำระบัญชีเสียได้ต่อเมื่อเจ้าหนี้คนนั้น หรือเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ยินยอมด้วย

 

การชำระบัญชีนั้น ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำหรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตั้งแต่งขึ้นนั้นเป็นผู้จัดทำ

 

การแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี ให้วินิจฉัยชี้ขาดโดยคะแนนเสียงข้างมากของผู้เป็นหุ้นส่วน

 

การชำระบัญชีเป็นกระบวนการตามที่กฎหมายบัญญัติให้จัดการทรัพย์สิน กรณีห้างหุ้นส่วนเลิกกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๖๑ วรรคหนึ่ง มิใช่กรณีเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องที่จะต้องขอบังคับภายในกำหนดอายุความ

 

โดยกรณีตามประเด็นดังกล่าวนี้มีคำพิพากษาตัวอย่างดังต่อไปนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๔๗๑/๒๕๖๐

ห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านเลิกกันด้วยเหตุที่กิจการแบ่งขายที่ดินดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันโดยผลของกฎหมาย ศาลจึงไม่จำต้องมีคำสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนสามัญตามคำร้องขอของผู้ร้องอีก

 

การชำระบัญชีเป็นกระบวนการตามที่กฎหมายบัญญัติให้จัดการทรัพย์สินกรณีห้างหุ้นส่วนเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่จะต้องขอบังคับภายในกำหนดอายุความ แม้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ชำระบัญชีเกินกว่า 10 ปี นับแต่ห้างเลิกกันแล้ว แต่เมื่อยังไม่มีการชำระบัญชี ผู้ร้องก็ชอบที่จะขอให้จัดการชำระบัญชีตามบทบัญญัติว่าด้วยการเลิกและชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญได้ หาได้เป็นการบังคับสิทธิเรียกร้องที่ต้องอยู่ภายใต้กำหนดอายุความไม่

 

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนและแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี

 

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอ

 

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน ที่สมัครใจเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนซึ่งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วน ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ (ที่ถูก คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก)

 

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

 

ผู้คัดค้านฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2535 ผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อและจดทะเบียนรับโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 640 ตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 24 ไร่ 76 ตารางวา จากนายผาด ผู้ขาย ในราคา 500,000 บาท และจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้กับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด เป็นจำนวนเงิน 2,500,000 บาท ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ สัญญาขายและสัญญาจำนอง จากนั้นมีการขอออกโฉนดที่ดิน ได้เป็นโฉนดเลขที่ 12468 ตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 20 ไร่ 68 ตารางวา ออกให้เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2536 มีชื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน พร้อมจดแจ้งรายการจำนองเดิมไว้ ตามสำเนาโฉนดที่ดิน แล้วมีการขอแบ่งแยกที่ดินในนามเดิมเป็นที่ดินแปลงย่อย 9 แปลง โฉนดเลขที่ 12689 ถึง 12696 และ 12710 โดยยังครอบจำนองอยู่ ต่อมาวันที่ 20 พฤษภาคม 2537 ผู้ร้องและผู้คัดค้านไถ่ถอนจำนองที่ดินรวมแปดโฉนดจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด ที่ดินโฉนดเลขที่ 12690 ถึง 12696 และ 12710 ถูกแบ่งแยกเป็นที่ดินแปลงย่อยเนื้อที่ประมาณ 40 ถึง 60 ตารางวา แล้วนำออกขายแก่บุคคลอื่น ตามสำเนาโฉนดที่ดิน สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 12689 ผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันจดทะเบียนจำนองไว้กับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2537 ตามสำเนาโฉนดที่ดินและสัญญาจำนอง ต่อมาธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ฟ้องบังคับจำนอง เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.1603/2553 ของศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในชั้นบังคับคดีมีการขายทอดตลาดที่ดิน เพื่อบังคับจำนองเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555

 

ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งผู้คัดค้านฎีกาว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านเลิกกันด้วยเหตุที่ทำการขายที่ดินที่แบ่งแยกมาเสร็จสิ้นแล้ว จึงต้องทำการชำระบัญชีโดยมีกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ ซึ่งต้องเป็นวันที่ขายที่ดินแปลงสุดท้ายเสร็จ มิใช่นับจากวันที่หุ้นส่วนไม่ปรองดองกันและมีการฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 414/2553 ต่อศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย จึงเห็นควรพิจารณาก่อนว่า เหตุที่ห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านต้องเลิกกันเป็นกรณีใด ข้อนี้ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้คัดค้านไม่ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินซึ่งห้างสามารถนำมาแบ่งขายเป็นแปลงย่อยได้ ทำให้เกิดความเสียหายจึงเหลือวิสัยที่ห้างจะดำรงอยู่ต่อไปได้ ส่วนผู้คัดค้านโต้แย้งว่า การร้องขอในคดีนี้เกินกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่กิจการซื้อขายที่ดินเสร็จสิ้นเมื่อปี 2537 คดีจึงขาดอายุความ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านร่วมกันซื้อที่ดินเพื่อนำมาแบ่งขายหากำไร ซึ่งมีการจดทะเบียนขายให้แก่ผู้มีชื่อเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ปี 2537 ถึง 2538 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเข้ามาเกี่ยวข้องหรือร่วมมีชื่อในเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดินอีก ฟังได้ว่า ห้างหุ้นส่วนที่จัดตั้งขึ้นมีวัตถุประสงค์นำที่ดินที่ซื้อมาแบ่งขายเอากำไรเท่านั้น เมื่อสัญญาทำไว้เฉพาะกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียว เมื่อเสร็จการนั้น การเลิกห้างเป็นไปโดยผลแห่งกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1055 (3) ผู้ร้องไม่ได้อุทธรณ์และฎีกาโต้แย้งว่า เหตุเลิกห้างต้องเป็นไปตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง เพียงแต่แก้อุทธรณ์และแก้ฎีกาว่า การขายที่ดินแปลงย่อยเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 12689 ซึ่งเป็นที่ดินแปลงสุดท้ายของโครงการ เช่นนี้ จึงต้องรับฟังว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านเลิกกันด้วยเหตุที่กิจการแบ่งขายที่ดินดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันโดยผลของกฎหมาย ศาลจึงไม่จำต้องมีคำสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนสามัญตามคำร้องขอของผู้ร้องอีก ส่วนในปัญหาโต้เถียงว่า การขายที่ดินแปลงสุดท้ายของโครงการเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2537 ตามที่ผู้คัดค้านอ้างในฎีกา หรือเสร็จสิ้นในภายหลังเมื่อมีการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 12689 ที่ถูกบังคับจำนองนั้น เห็นว่า ข้ออ้างของผู้คัดค้านสอดคล้องกับสารบัญจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 12690 ถึง 12696 และ 12710 ซึ่งปรากฏรายการจดทะเบียนที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านร่วมกันโอนขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อโดยดำเนินการเสร็จสิ้นในปี 2537 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 12689 นำไปจำนองไว้ต่อธนาคารตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2537 แสดงว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่ประสงค์จะขายที่ดินส่วนนี้มาแต่ต้น การขายที่ดินแปลงย่อยตามความประสงค์ จึงดำเนินการเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2537 มิใช่ถือว่าเสร็จสิ้นเมื่อมีการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 12689 โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อปี 2555 แต่อย่างใด ส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า คดีขาดอายุความในการขอให้ชำระบัญชี เนื่องจากการขายที่ดินแปลงสุดท้ายดำเนินการเสร็จสิ้นเกินกว่า 10 ปี แล้วนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วก็ให้จัดการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน หรือว่าห้างหุ้นส่วนนั้นศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย การชำระบัญชีเป็นการจัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนที่เลิกกัน หากยังไม่มีการชำระบัญชีก็ไม่อาจจะทราบได้ว่า กิจการมีกำไรหรือขาดทุน และหุ้นส่วนแต่ละคนมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งหรือต้องชดใช้เงินให้เจ้าหนี้หรือไม่ อย่างไร การชำระบัญชีจึงเป็นกระบวนการตามที่กฎหมายบัญญัติให้จัดการทรัพย์สินกรณีห้างหุ้นส่วนเลิกกัน มิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่จะต้องขอบังคับภายในกำหนดอายุความ แม้ห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านเลิกกันตั้งแต่ปี 2537 และผู้ร้องมายื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้เมื่อปี 2555 ซึ่งเกินกว่า 10 ปี นับแต่ห้างเลิกกันแล้วก็ตาม แต่เมื่อยังไม่มีการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญที่เลิกกัน ผู้ร้องชอบที่จะขอให้จัดการชำระบัญชีตามบทบัญญัติว่าด้วยการเลิกและชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญได้ หาได้เป็นการบังคับสิทธิเรียกร้องที่ต้องอยู่ภายใต้กำหนดอายุความไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้แต่งตั้งผู้ชำระบัญชีตามคำร้องขอนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น

 

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

 

ดังนั้นพอสรุปได้ว่ากรณีการชำระบัญชีมิใช่กรณีเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องที่จะต้องขอบังคับภายในกำหนดอายุความ

 

 

Facebook Comments