Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ กรณีไม่ได้ตายด้วยโรคที่ปกปิด บริษัทประกันชีวิตต้องรับผิดหรือไม่  ?

กรณีไม่ได้ตายด้วยโรคที่ปกปิด บริษัทประกันชีวิตต้องรับผิดหรือไม่  ?

1292

กรณีไม่ได้ตายด้วยโรคที่ปกปิด บริษัทประกันชีวิตต้องรับผิดหรือไม่  ?

บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ คือ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๘๖๕ ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่ง อาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

 

               ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

 

แม้ผู้เอาประกันภัยจะไม่ต้องตรวจร่างกาย แต่ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่สำคัญในการที่จำเลยจะรับประกันภัยไว้หรือไม่ การที่จำเลยมีคำถามเรื่องสุขภาพเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการทำสัญญา แสดงให้เห็นว่า การทำสัญญาของจำเลยไม่ได้ละเลยต่อประวัติสุขภาพของผู้เอาปรันภัย สาระเกี่ยวกับสุขภาพของผู้เอาประกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญในการรับประกันหรือเพิ่มเบี้ยประกัน จึงเป็นเรื่องที่ผู้ตายจะต้องแจ้งความจริงให้ปรากฏในใบคำขอดังกล่าว”

 

โดยกรณีตามประเด็นดังกล่าวนี้มีคำพิพากษาตัวอย่างดังต่อไปนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๑๕/๒๕๖๓

 

ผู้ตายเป็นโรคเบาหวานมาก่อน ทั้งเคยเข้ารับการรักษาโรคนี้ ที่โรงพยาบาลมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ จนถึงปี ๒๕๕๔ แต่ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพตนเองไว้โดยโจทก์อ้างว่าไม่ใช่โรคร้ายแรงซึ่งในเรื่องสุขภาพนั้นผู้เอาประกันมีหน้าที่ต้องเปิดเผย ไม่แต่เฉพาะข้อความจริงที่อาจมีผลจูงใจผู้รับประกันภัยให้ถึงกับบอกปัดไม่ยอมรับประกันชีวิต แต่ยังรวมถึงข้อความจริงที่อาจจูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น ถือว่าโจทก์กับผู้ตายปกปิดข้อเท็จจริงในการทำสัญญาประกันชีวิต ทำให้สัญญาประกัน ชีวิตระหว่างผู้ตายกับจำเลยตกเป็นโมฆียะ จำเลยมีสิทธิบอกล้างได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๖๕ วรรคหนึ่ง โจทก์จะอ้างว่าโรคเบาหวานไม่ใช่โรคร้ายแรงไม่จำเป็นต้องบอกหาได้ไม่

 

                    โจทก์แจ้งการตายของผู้ตายแก่จำเลยวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๗ จำเลยตรวจสอบประวัติการรักษาตัวของผู้ตายโดยได้รับ เอกสารหลักฐานจากโรงพยาบาลวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๘ ไม่นานนักหลังจากทราบว่าผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าจำเลยไม่ได้ปล่อยปละละเลยที่จะทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ตายที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เมื่อจำเลยทราบข้อมูลอันจะบอกล้างได้วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๘ และใช้สิทธิบอกลางวันที่  ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ สัญญาประกันชีวิตที่ผู้ตายทำไว้กับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะ แม้ผู้ตายไม่ได้ตายด้วยโรคเบาหวานซึ่งเป็นข้อความที่ปกปิดไว้ก็ตาม จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

 

 

 

                    ตามฎีกานี้ ไม่มีการตรวจร่างกาย  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้ผู้เอาประกันภัยจะไม่ต้องตรวจร่างกาย แต่ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่สำคัญในการที่จำเลยจะรับประกันภัยไว้หรือไม่ การที่จำเลยมีคำถามเรื่องสุขภาพเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการทำสัญญา แสดงให้เห็นว่า การทำสัญญาของจำเลยไม่ได้ละเลยต่อประวัติสุขภาพของผู้เอาปรันภัย สาระเกี่ยวกับสุขภาพของผู้เอาประกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญในการรับประกันหรือเพิ่มเบี้ยประกัน จึงเป็นเรื่องที่ผู้ตายจะต้องแจ้งความจริงให้ปรากฏในใบคำขอดังกล่าว”

 

ดังนั้นพอสรุปได้ว่าแม้ผู้ตายไม่ได้ตายด้วยโรคซึ่งเป็นข้อความที่ปกปิดไว้ บริษัทประกันชีวิตก็ไม่ต้องรับผิด

Facebook Comments