มีสิทธิรับมรดกแต่ไม่ได้รับค่าอุปการะ ?
บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้โดยตรง คือ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 443 ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆ อีกด้วย
…………………..
ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลคนหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 1563 บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
มาตรา 1564 บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์
มีสิทธิรับมรดกแต่ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะเพราะไม่มีหน้าที่ดูแล
บุตรที่เกิดจากบิดามารดาไม่ได้สมรสกันตามกฎหมาย ย่อมเสียสิทธิในการได้รับค่าขาดไร้การอุปการะเลี้ยงดูเมื่อมีบุคคลอื่นทำให้บิดาตาย เพราะเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีตามประเด็นดังกล่าวมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศึกษาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9210/2556
………ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม กำหนดให้ผู้กระทำละเมิดในกรณีทำให้เขาถึงตายรับผิดต่อบุคคลที่ต้องขาดไร้อุปการะเฉพาะที่ผู้ตายมีหน้าที่อุปการะตามกฎหมายเท่านั้น แต่โจทก์ร่วมเป็นบุุตรของผู้ตายกับ ป. ซึ่ง ป. ให้การชั้นสอบสวนว่าผู้ตายกับ ป. ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แม้ผู้ตายแจ้งการเกิดของโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมเป็นบุตรของผู้ตาย และตามพฤติการณ์เห็นได้ว่าผู้ตายยินยอมให้โจทก์ร่วมใช้ชื่อสกุลอันถือว่าโจทก์ร่วมเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วตามมาตรา 1627 ก็ตาม แต่ตามมาตรา 1563 และมาตรา 1564 ที่บัญญัติให้บุตรและบิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูกันนั้นหมายถึงบุตรและบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้บิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนอกกฎหมาย ดังนั้นแม้โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วจะเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของบิดาได้ แต่ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดา โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลย ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดให้บิดาของตนถึงแก่ความตายได้คงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับการปลงศพและค่าเสียหายแก่รถจักรยานยนต์ของผู้ตาย ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ที่เป็นทายาทจะเรียกร้องเอาแก่ผู้ที่กระทำละเมิดทำให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเท่านั้น
ดังนั้นพอสรุปได้ว่ามีสิทธิรับมรดกแต่ไม่ได้รับค่าอุปการะ