Home บทความคดีแพ่ง รายงานประจำวันถือเป็นพินัยกรรมได้หรือไม่

รายงานประจำวันถือเป็นพินัยกรรมได้หรือไม่

693

กรณีสำเนารายงานประจำวัน ที่ผู้ตายแสดงเจตนาเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สิน มีลักษณะเป็นพินัยกรรมตาม มาตรา ๑๖๔๖ และ ๑๖๔๗ หรือไม่ ?

บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนี้ คือ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๖๔๖  บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้

มาตรา ๑๖๕๖  พินัยกรรมนั้น จะทำตามแบบดั่งนี้ ก็ได้ กล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือ ลง วันที่ เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น และ ผู้ทำพินัยกรรม ต้องลงลายมือชื่อไว้ ต่อหน้า พยาน อย่างน้อยสองคน พร้อมกัน ซึ่ง พยานสองคนนั้น ต้องลงลายมือชื่อรับรอง ลายมือชื่อ ของผู้ทำพินัยกรรมไว้ ในขณะนั้น

มาตรา ๑๖๔๗  การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายนั้นย่อมทำได้ด้วยคำสั่งครั้งสุดท้ายกำหนดไว้ในพินัยกรรม มาตรา ๑๖๔๘ พินัยกรรมนั้นต้องทำตามแบบซึ่งระบุไว้ในหมวด ๒ แห่งลักษณะนี้ มาตรา ๑๖๔๙ ผู้จัดการมรดกซึ่งผู้ตายตั้งไว้ย่อมมีอำนาจและหน้าที่ในอันที่จะจัดการทำศพของผู้ตาย เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งบุคคลอื่นไว้โดยเฉพาะให้จัดการดั่งว่านั้น

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นตัวอย่างให้ศึกษา ดังต่อไปนี้คือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๑๑/๒๕๕๘

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2545 ผู้ตายไปแจ้งความต่อพันตำรวจโท ด. พนักงานสอบสวนและจ่าสิบตำรวจ ส. เจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจภูธรอำเภอสารภี ว่า ผู้ตายมีความจำเป็นต้องจดทะเบียนกับผู้ร้อง จึงมีความจำเป็นต้องทำบันทึกเรื่อง ทรัพย์สินไว้ โดยระบุว่าทรัพย์สินใดเป็นของนาย ป. ทรัพย์สินใดผู้ตายกับนาย ป. เป็นเจ้าของร่วมและกำหนดเงื่อนไขว่าถ้าผู้ตายมีบุตรให้ทรัพย์สินส่วนของผู้ตายตกแก่บุตรและภริยาของผู้ตาย ถ้าผู้ตายไม่มีบุตรตามที่ภริยารับรองให้ทรัพย์สินส่วนของผู้ตายตกแก่นาย ป. ผู้เดียวห้ามภริยาเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของผู้ตาย ตามสำเนารายงานประจำวัน หลังจากที่ผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับผู้ร้องแล้ว ผู้ตายไม่มีทรัพย์สินเพิ่มเติม ศาลฎีกาเห็นว่าตามสำเนารายงานประจำวันมีข้อความว่า ถ้าผู้ตายถึงแก่ความตายทรัพย์สินของผู้ตายจะตกแก่ผู้ใด เป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินมีลักษณะเป็นพินัยกรรม ตาม ป.พ.พ มาตรา 1646 และมาตรา 1647 ผู้ตายบอกให้เจ้าพนักงานตำรวจบันทึกและลงลายมือชื่อต่อหน้าพันตำรวจโท ด. กับจ่าสิบตำรวจ ส. พยานทั้งสองคนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผูัตายไว้ในขณะนั้นเป็นการทำพินัยกรรมถูกต้องตามแบบดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1656

 

ดังนั้นพอสรุปได้ว่า สำเนารายงานประจำวัน ที่ผู้ตายแสดงเจตนาเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สิน มีลักษณะเป็นพินัยกรรม

Facebook Comments