Home บทความ กรณีลูกจ้างแอบส่งข้อมูลของนายจ้างเข้าอีเมล์ของตนเอง มีความผิดหรือไม่ ?

กรณีลูกจ้างแอบส่งข้อมูลของนายจ้างเข้าอีเมล์ของตนเอง มีความผิดหรือไม่ ?

1574

กรณีลูกจ้างแอบส่งข้อมูลของนายจ้างเข้าอีเมล์ของตนเอง มีความผิดหรือไม่ ?

บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนี้ คือ

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑

มาตรา  ๑๑๙  นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(๒) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(๔) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างนายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๕๘๓ ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นตัวอย่างให้ศึกษา ดังต่อไปนี้ คือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๑๘๙/๒๕๖๒

ในการทำงานโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงต่อการรักษาความลับและพันธกรณีอื่น ๆ โดยโจทก์ยินยอมที่ป้องกันรักษาความลับของข้อมูลและสารสนเทศของจำเลย อันแสดงให้เห็นว่า จำเลย ให้ความสำคัญต่อการป้องกันและเก็บรักษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกิจการของจำเลย การที่โจทก์นำข้อมูลเอกสารหมาย ล.5 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับกิจการและการบริหารจัดการองค์กรของจำเลยเพื่อรับรองมาตรฐานการฝึกอบรมและการประเมินของจำเลยส่งเข้าจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัวของโจทก์ ทำให้ง่ายต่อการส่งข้อมูลดังกล่าวต่อไป หรือนำข้อมูลออกไปโดยจำเลยไม่อาจติดตามได้ การกระทำของโจทก์ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่สุจริตและเป็นการนำความลับของจำเลยไปเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และถือเป็นการกระทำผิดวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 33.4 และ 33.5 เป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) (4) ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

 

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยในตำแหน่งครูฝึกบุคลากร ต่อมาโจทก์เข้าเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการในบริษัทพัทยา อินเตอร์เนชั่นแนล เซฟตี้ เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการอบรมบุคลากรด้านความปลอดภัยในการทำงานในทะเล โจทก์ส่งข้อมูลตามเอกสารหมาย ล.5 จากจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไปเข้าจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัวของโจทก์ แล้วศาลแรงงานภาค 9 วินิจฉัยว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 9 วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีครบถ้วนแล้ว อุทธรณ์อื่นของจำเลยเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งและเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงแล้วพิพากษายืน

 

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อ 1.3 มีว่า การที่โจทก์ส่งข้อมูลตามรายงานการตรวจสอบเอกสารหมาย ล.5 ไปที่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัวของโจทก์ เป็นการทำซ้ำซึ่งข้อมูลอันเป็นลิขสิทธิ์ของคู่สัญญาของจำเลย อันเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างและเป็นการจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่นั้น เมื่อเอกสารหมาย ล.5 เป็นเอกสารของสถาบันฝึกอบรมปิโตรเลียมนอกชายฝั่งของสหราชอาณาจักร (Offshore Petroleum Industry Training Organization หรือ OPITO) ที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในในการตรวจสอบกิจการของจำเลย ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับกิจการและการบริหารจัดการองค์กรของจำเลยเพื่อรับรองมาตรฐานการฝึกอบรมและการประเมินของศูนย์ฝึกอบรมเศรษฐพัฒน์ของจำเลย และข้อมูลในเอกสารดังกล่าวเป็นข้อมูลที่จำเลยมีสิทธิหวงกันตามข้อตกลงระหว่างจำเลยกับสถาบันฝึกอบรมปิโตรเลียมนอกชายฝั่งของสหราชอาณาจักร ซึ่งระบุว่าห้ามทำซ้ำทั้งหมด หรือบางส่วนของเอกสาร และห้ามเปิดเผยเอกสารต่อบุคคลที่สามโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสถาบันฝึกอบรมปิโตรเลียมนอกชายฝั่งของสหราชอาณาจักรก่อน ทั้งในการทำงาน โจทก์กับจำเลยก็มีข้อตกลงต่อการรักษาความลับและพันธกรณีอื่น ๆ โดยโจทก์ยินยอมที่ป้องกันรักษาความลับของข้อมูลและสารสนเทศของจำเลย แสดงให้เห็นว่า จำเลยให้ความสำคัญต่อการป้องกันและเก็บรักษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกิจการของจำเลย การที่โจทก์นำข้อมูลเอกสารหมาย ล.5 ส่งเข้าจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัวของโจทก์ทำให้ง่ายต่อการส่งข้อมูลดังกล่าวต่อไปหรือนำข้อมูลออกไปโดยจำเลยไม่อาจติดตามได้ การกระทำของโจทก์ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่สุจริตและเป็นการนำความลับของบริษัทจำเลยไปเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลย จึงเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายและถือเป็นการกระทำผิดวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 33.4 และ 33.5 เป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) (4) ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 และเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุอันควร การที่จำเลยปรับลดเงินบำเหน็จของโจทก์จึงเป็นไปตามแผนสวัสดิการเฉพาะท้ายคำแถลงขอนำส่งเอกสารของโจทก์ ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2560 โดยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

ดังนั้นพอสรุปได้ว่า ลูกจ้างแอบส่งข้อมูลของนายจ้าง  เข้าอีเมล์ของตัวเองมีความผิด และมีสิทธิเลิกจ้างได้ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

Facebook Comments