Home บทความคดีแพ่ง จุดวินิจฉัยตัวการร่วมในคดีความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

จุดวินิจฉัยตัวการร่วมในคดีความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

935

จุดวินิจฉัยตัวการร่วมในคดีความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91 และขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำ(ที่ถูกน่าจะเป็นหมายเลขแดง) ที่ 1012/2538 ของศาลชั้นต้น

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามเช็คฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 4ปรับกระทงละ 20,000 บาท และเช็คฉบับที่ 5 ปรับ 40,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ตามเช็คฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 4 กระทงละ 2 เดือน และเช็คฉบับที่ 5 จำคุก 4 เดือน รวมลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 120,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 เดือน(ที่ถูก 12 เดือน) จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 60,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 6 เดือน ให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1012/2538 ของศาลชั้นต้น และหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่าแม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ลงลายมือชื่อในเช็คตามฟ้องแต่จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 และเป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในเช็คได้ ย่อมจะทราบฐานะทางการเงินของจำเลยที่ 1 เป็นอย่างดี แม้ไม่ได้ลงลายมือชื่อในเช็ค ย่อมมีความผิดในฐานะตัวการด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คพิพาทโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 มอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายแต่เมื่อเช็คถึงกำหนดเรียกเก็บเงินธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ แม้ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า จำเลยที่ 2 มิใช่เป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทแต่เมื่อเช็คพิพาทเป็นของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทจำเลยที่ 1 และมีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ ย่อมต้องทราบฐานะการเงินของบริษัทจำเลยที่ 1 ว่ามีเงินพอที่จะจ่ายตามเช็คได้หรือไม่ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ในเช็คพิพาทและส่งมอบเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เป็นการชำระหนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดตามฟ้องด้วยแล้ว เพราะความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ไม่ได้จำกัดเฉพาะว่าผู้กระทำความผิดคือผู้ออกเช็คเท่านั้นบุคคลอื่นก็อาจร่วมกระทำเป็นตัวการด้วยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า สมควรให้ความเมตตาปรานีแก่จำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 2 แก้ฎีกาหรือไม่ เห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดี การกระทำผิดของจำเลยที่ 2ไม่ร้ายแรงนัก ทั้งจำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วบางส่วนเป็นเงิน 79,000 บาท ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้พยายามบรรเทาผลร้ายแล้ว ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้ความปรานีรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 2 ได้กลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไป”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 เมื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วจึงไม่นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1012/2538 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 

สรุป

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คพิพาทโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 มอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แต่เมื่อเช็คถึงกำหนดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า จำเลยที่ 2 มิใช่เป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาท แต่เมื่อเช็คพิพาทเป็นของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทจำเลยที่ 1 และมีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ ย่อมต้องทราบฐานะการเงินของบริษัทจำเลยที่ 1 ว่ามีเงินพอ ที่จะจ่ายตามเช็คได้หรือไม่ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ในเช็คพิพาทและส่งมอบเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เป็นการชำระหนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดตามฟ้องด้วยแล้ว เพราะความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ไม่ได้จำกัดเฉพาะว่าผู้กระทำความผิดคือผู้ออกเช็คเท่านั้นบุคคลอื่นก็อาจร่วมกระทำเป็นตัวการด้วยได้ ตามพฤติการณ์แห่งคดี การกระทำผิดของจำเลยที่ 2 ไม่ร้ายแรงนัก ทั้งจำเลยที่ 2ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วบางส่วน ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้พยายามบรรเทาผลร้ายแล้วประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงเห็นสมควรให้ความปรานีรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 2 ได้กลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไป

Facebook Comments