Home บทความคดีแพ่ง ผู้ทรงเช็คตายก่อนกำหนดจ่ายเงิน ทายาทเป็นผู้เสียหายหรือไม่

ผู้ทรงเช็คตายก่อนกำหนดจ่ายเงิน ทายาทเป็นผู้เสียหายหรือไม่

2065

ผู้ทรงเช็คตายก่อนกำหนดจ่ายเงิน ทายาทเป็นผู้เสียหายหรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91

ระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ขอให้จำหน่ายคดีของโจทก์ที่ 3 เนื่องจากโจทก์ที่ 3 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นอนุญาตและเห็นว่าคดีของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีมูล ให้ประทับฟ้อง

วันนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย และพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 2

โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนายประสงค์ อนนต์ศิริพร ในราคา 29,198,400 บาท ชำระเงินวันทำสัญญา 10,000,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระ 19 งวดงวดละ 1,000,000 บาท งวดสุดท้าย 1,198,400 บาท จำเลยทั้งสามร่วมกันสั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขานครปฐมจำนวน 19 ฉบับ เพื่อชำระค่างวดดังกล่าว นายประสงค์ถึงแก่ความตายในวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 ศาลจังหวัดนครปฐม มีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทผู้ตายเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ต่อมาเช็คชำระค่างวดจำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 24 กันยายน 2540 และวันที่24 ตุลาคม 2540 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเช็ค 19 ฉบับถึงกำหนดธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสองฉบับ โจทก์ทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกจึงได้นำมาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ระหว่างไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ที่ 3 ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ดำเนินคดีในฐานะโจทก์ต่อมา จนกระทั่งคดีมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา

คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อแรกว่า โจทก์ทั้งสามเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เช็คพิพาทในคดีนี้ทั้งสองฉบับถึงกำหนดภายหลังจากที่นายประสงค์ถึงแก่ความตาย สิทธิตามเช็คพิพาทจึงเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทผู้ตายทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 โจทก์ทั้งสามจึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท ย่อมถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายและเป็นผู้เสียหายโดยตรงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อต่อไปมีว่าเมื่อโจทก์ที่ 3 ถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีอำนาจดำเนินคดีต่อไปหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 29 บัญญัติว่า เมื่อผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการีผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาจะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้เมื่อโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ที่ 3 ผู้ตายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแทนก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่ 1 ที่จะร้องต่อศาลขอให้จำหน่ายคดีโจทก์ที่ 3 ได้ เมื่อจำเลยทั้งสามไม่คัดค้านคำร้องดังกล่าวคำสั่งศาลชั้นต้นที่จำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ที่ 3 จึงชอบแล้วอนึ่งเมื่อสิทธิตามเช็คพิพาทเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสามทันทีดังวินิจฉัยข้างต้นโจทก์ทั้งสามย่อมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในเช็คพิพาท ดังนั้นโจทก์ทั้งสามคนใดคนหนึ่งสามารถที่จะฟ้องร้องให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยได้โดยลำพัง โดยไม่จำต้องใช้สิทธิร่วมกันก็ได้ ทั้งการฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสามคดีนี้เป็นที่เห็นได้ว่าเป็นการใช้สิทธิในฐานะผู้เสียหายมิใช่สิทธิในฐานะผู้จัดการมรดกดังที่จำเลยฎีกา การที่ศาลจำหน่ายคดีของโจทก์ที่ 3 เนื่องจากโจทก์ที่ 3 ถึงแก่ความตาย ก็หาทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีชอบแล้ว

พิพากษายืน

สรุป

Facebook Comments