Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ กรณีการรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย หลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ?

กรณีการรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย หลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ?

2235

 

กรณีการรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย หลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ?

 

ประเด็นดังกล่าวนี้มีบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวโดยตรง คือ

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

มาตรา ๘๘๐ ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น

        ถ้าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแต่เพียงบางส่วนไซร้ ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยนั้นใช้สิทธิของตนให้เสื่อมเสียสิทธิของผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ ในการที่เขาจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกเพื่อเศษแห่งจำนวนวินาศนั้น

 

จากกรณีตามประเด็นดังกล่าวมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศึกษาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๑๙/๒๕๖๓

 

โจทก์ผู้รับประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ ส. เป็นค่ารถยกลาก ๑,๕๐๐ บาท และจ่ายให้แก่อู่ในนามของ ธ. ผู้เอาประกันภัยเป็นค่าซ่อมรถ ๒๖๐,๐๐๐ บาท ก่อนหน้าที่ ธ. กับ ว. ผู้เสียหายอีกคนหนึ่งทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยและ ก. ในคดีแพ่ง โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อจำเลยเพียงนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๘๐ วรรคหนึ่ง แม้หลังจากนั้นจำเลยจะมีการตกลงประนีประนอมยอมความกับ ธ. ผู้เอาประกันภัยและมีการผ่อนชำระค่าเสียหายตามข้อตกลง ก็หาทำให้สิทธิในการรับช่วงสิทธิของโจทก์ซึ่งมีอยู่แล้วสิ้นไปไม่ ทั้งค่าเสียหายในส่วนที่ ธ. เรียกร้องในคดีแพ่งดังกล่าวเป็นคนละส่วนกับที่โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ โจทก์มีอำนาจรับช่วงสิทธิจาก ธ. ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเอาจากจำเลยได้

 

               โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๘๐   สิทธิของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป โจทก์จะคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันทำละเมิดเสมือนเป็นผู้เสียหายที่ถูกทำละเมิดโดยตรงมิได้

 

  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๒๐๙/๒๕๕๘

 

แม้จำเลยกับ ส. ทายาทของ ป. ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุจากโจทก์จะตกลงระงับข้อพิพาทต่อกันอันเป็นการประนีประนอมยอมความกัน ทำให้มูลหนี้ระหว่าง ป. ผู้ตายกับจำเลยระงับไปก็ตาม  แต่โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ส. ทายาทของ ป. ผู้เอาประกันภัยไป  โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของ ส. ทายาทของ ป. และอาจใช้สิทธิในฐานะผู้รับช่วงสิทธิที่มีต่อจำเลยผู้กระทำละเมิดได้ตั้งแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๖ วรรคหนึ่ง และ ๘๘๐ วรรคหนึ่ง การที่จำเลยกับ ส.  ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทต่อกันในภายหลัง  ผลของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงหาได้กระทบกระเทือนต่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ได้เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้วไม่ โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของ ส. ทายาทของ ป. จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยผู้กระทำละเมิดให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไปนั้นได้

 

 

            ดังนั้นพอสรุปได้ว่า ทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงหาได้กระทบกระเทือนต่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ได้เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้วไม่ ผู้รับช่วงสิทธิมีสิทธิฟ้องผู้กระทำละเมิดให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายไปนั้นได้

 

 

           

 

 

 

Facebook Comments