กรณีที่ผู้เอาประกันภัยค้ำจุนขับรถฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติตามเครื่องหมายจราจร ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ และผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดหรือไม่ อย่างไร
บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนี้ คือ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๘๗๙ ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความวินาศภัยอันเป็นผลโดยตรงมาแต่ความไม่สมประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกันภัย เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น
มาตรา ๘๘๗ อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ
บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย
อนึ่ง ผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่ เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว
ประกันภัยค้ำจุน คือ การประกันวินาศภัยประเภทหนึ่งเป็นสัญญาประกันภัย ซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และทางผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย อนึ่งผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่ เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว
ประกันภัยค้ำจุน นับว่าเป็นสัญญาประเภทหนึ่งของการประกันภัย อยู่ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยเรื่องการประกันวินาศภัย แต่มีข้อแตกต่างจากประกันวินาศภัยปกติ ตรงที่ผู้เอาประกันภัยนำตัวทรัพย์สินไปประกันความเสียหาย เช่น ประกันอัคคีภัย ก็คือการที่เอาตัวบ้านหรือ ทรัพย์อื่น เป็นวัตถุที่เอาประกันภัย เป็นต้น แต่ การประกันภัยค้ำจุนนั้น วัตถุที่เอาประกันภัยคือ “ความรับผิด” ไม่มีตัวทรัพย์สินที่เอาประกันภัย บางครั้งจึงเรียกประกันภัยประเภทนี้ว่า “ประกันภัยความรับผิด” นั่นเอง
สัญญาประกันภัยค้ำจุน อาจกล่าวได้ถึง การทำสัญญาประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยมีความรับผิดที่ต้องชำระหนี้ให้กับผู้อื่นที่ได้ค้ำจุนเอาไว้ ซึ่งผู้เอาประกันภัย เอาความรับผิดไปทำสัญญาประกันภัยไว้กับผู้รับประกันภัย อาจเป็นความรับผิดตามสัญญา หรือ ความรับผิดทางกฎหมายก็ได้ เช่น ความรับผิดตามกฎหมายละเมิดได้
ใจความสำคัญ 2 ประการ
1.ต้องมีสัญญาประกันภัยระหว่างผู้เอาประกันภัย และผู้รับประกันภัย และจะต้องไม่ใช่เป็นการรับประกันความเสียหายต่อทรัพย์ของผู้เอาประกันภัย แต่เป็นการประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลที่สามหรือบุคคลภายนอก ในอนาคต
2.ผู้เอาประกันภัยเป็นต้องเป็นฝ่ายที่รับผิดตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ใน ต่อท้ายของมาตราที่ 887 วรรค 1 เพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่ง และซึ่ง ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ
เมื่อครบหลักเกณฑ์ทั้ง สองข้อแล้ว ผู้รับประกันภัยถึงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนให้บุคคลภายนอกแทน ผู้เอาประกันภัยตามสัญญา
การประกันวินาศภัย ด้วยการ ประกันภัยค้ำจุน ในปัจจุบัน ถ้าเลือกได้ ทุกคนคงไม่อยากเป็นผู้ที่ถูกเลือกในการค้ำประกันให้กับใคร เพราะการค้ำประกันถ้าเกิดโชคร้ายขึ้นมา อาจทำให้เกิดความเสียหายทางความสัมพันธ์ต่อกันและกัน ยังตามมาซึ่งความเสียหาย ทางทรัพย์สินอีกด้วย
โดยกรณีตามประเด็นดังกล่าวนี้มีคำพิพากษาตัวอย่างดังต่อไปนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๑๑/๒๕๓๕
เครื่องหมายจราจรเป็นเครื่องหมายที่แสดงให้ผู้ขับรถได้ระมัดระวังเพื่อความปลอดภัย การเลี้ยวกลับรถโดยฝ่าฝืน เครื่องหมายจราจร ถ้าใช้ความระมัดระวังพอสมควรก็สามารถทำได้ โดยปลอดภัยการฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรดังกล่าวจึงมิใช่เป็น ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันจะเป็นผลให้ผู้รับประกันภัยไม่ ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879
ดังนั้นพอสรุปได้ว่า กรณีที่ผู้เอาประกันภัยค้ำจุนขับรถฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติตามเครื่องหมายจราจร ไม่ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และผู้รับประกันภัยยังคงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้ได้รับความเสียหาย