Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ กรณีประกันภัย กับการบอกเลิกสัญญา?

กรณีประกันภัย กับการบอกเลิกสัญญา?

2691

 

กรณีประกันภัย กับการบอกเลิกสัญญา?

ประเด็นดังกล่าวนี้มีบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวโดยตรง คือ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

มาตรา ๘๖๑ อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย

 

มาตรา ๘๙๗ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น ท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้

ถ้าได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ท่านว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้

 

มาตรา ๘๖๕ ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

 

มาตรา ๑๕๖การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ

ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม  ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมและความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น

 

 

 

การประกันภัย (Insurance) คือ การบริหารความเสี่ยงภัยวิธีหนึ่งซึ่งโอนความเสี่ยงภัยจากผู้เอาประกันภัยไปสู่ผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัย และผู้เอาประกันภัยต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทผู้รับประกันภัย เมื่อเกิดความเสียหายผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้ระบุความคุ้มครองไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้

 

 

ตามกรมธรรม์ประกันภัยผู้รับประกันภัยตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งในกรณีที่มีเหตุอย่างใดในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญาประกันภัย และผู้เอาประกันภัยตกลงส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัยแล้วนั้น กรรมธรรม์ดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 ซึ่งนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยต้องบังคับตาม ป.พ.พ. ลักษณะ 20 ประกันภัยมาตรา 861 ถึงมาตรา 897 โดยในหมดที่ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป มาตรา 865 กำหนดสิทธิให้ผู้รับประกันภัยบอกเลิกสัญญาประกันภัยได้ต่อเมื่อ “ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัยผู้เอาประกันภัยรู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจจะได้จูงใจให้ผู้รับประกันภัยเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันภัย หรือรู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นเท็จ สัญญานั้นเป็นโมฆียะ” และตามวรรคสองของมาตราดังกล่าว “ผู้รับประกันภัยต้องใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ทราบมูลเหตุอันจะบอกล้างได้” นอกจากบทบัญญัติดังกล่าวแล้วไม่มีบทมาตราใดที่ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยใช้สิทธิเลิกสัญญาแต่ฝ่ายเดียวได้ การกระทำดังกล่าวของผู้รับประกันภัยถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 เมื่อผู้เอาประกันภัยมิได้ปกปิดข้อความจริงใด หรือรู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นเท็จ ผู้รับประกันภัยจึงไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้

 

การใช้สิทธิบอกเลิกฝ่ายเดียวของผู้รับประกันภัยนั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยได้กระทำโดยทุจริตและฉ้อฉลประกันภัยเพื่อให้ตนเองและผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันภัยนี้ การบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ประกันภัย ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย จึงเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาประกันภัยที่ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 386 สัญญาดังกล่าวจึงยังไม่เลิกกันโดยข้อความทาง SMS ซึ่งผู้เอาประกันภัยไม่แสดงเจตนาหรือตกลงยินยอมด้วยในการเลิกกรมธรรม์ประกันภัยหรือเลิกสัญญาประกันภัย ผู้รับประกันภัยจึงต้องปฏิบัติตามข้อสัญญาประกันภัยโดยเคร่งครัดต่อไป

 

แต่ถ้าหากผู้เอาประกันภัยได้ตอบรับข้อความ SMS ด้วยการแสดงเจตนาอย่างหนึ่งอย่างใดตามข้อเสนอที่ผู้รับประกันภัยเสนอมา ซึ่งในการแสดงเจนานั้นผู้รับประกันภัยจะมีข้อความระบุว่า “โดยผู้เอาประกันภัยสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ฉบับเดิม” ซึ่งเป็นคำเสนอให้ผู้เอาประกันภัยสนองรับกลับเพื่อให้มีผลผูกพันเป็นการยกเลิกสัญญา หากผู้เอาประกันภัยเข้าใจว่าจะรับสิทธิในการใช้กรมธรรม์เดิมหรือได้สิทธิเพิ่มเติมจากกรมธรรม์ที่มีอยู่ การแสดงเจตนาตอบกลับข้อความ SMS ดังกล่าวนี้จึงเป็นโมฆะ ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาของผู้เอาประกันภัยโดยสําคัญผิดในลักษณะแห่งนิติกรรม (ฎีกา 965/2530) ดังนี้การตอบรับข้อความ SMS ของผู้รับประกันภัยที่ส่งมาให้ผู้เอาประกันภัยเลือกแนวทางการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยอย่างหนึ่งอย่างใด การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 ซึ่งนิติกรรมที่เป็นโมฆะถือเสมือนไม่มีการทำนิติกรรมผู้เอาประกันภัยไม่จำต้องเพิกถอน

จากกรณีตามประเด็นดังกล่าวมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศึกษาเป็นตัวอย่างเทียบเคียงดังต่อไปนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๖๕/๒๕๓๐

จำเลยพาโจทก์ซึ่งเป็นมารดาและผู้จัดการมรดกบิดาไปสำนักงานที่ดินแล้วจัดการให้โจทก์ทำนิติกรรมรับโอนที่ดินและบ้านมรดก แล้วจดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลย โดยอาศัยความไม่รู้หนังสือและระเบียบการของทางราชการ และความสูงอายุของโจทก์โจทก์มิได้มีเจตนากระทำเช่นนั้น นิติกรรมดังกล่าวจึงเกิดจากความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119
นิติกรรมที่เป็นโมฆะถือเสมือนไม่มีการทำนิติกรรม ไม่จำต้องเพิกถอนศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รายพิพาทจึงมีความหมายเพียงบังคับให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนอันเกิดจากนิติกรรมที่เป็นโมฆะนั้น.

 

 

 

         ดังนั้นพอสรุปได้ว่า การบอกเลิกสัญญาประกันภัยฝ่ายเดียว จะกระทำได้ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยได้กระทำโดยทุจริตและฉ้อฉลประกันภัย และการใช้สิทธิการบอกเลิกสัญญาต้องเป็นไปตามมาตรา ๘๖๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

 

Facebook Comments