Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ผู้เยาว์ขับรถโดยบิดามารดาไม่ได้ควบคุมและสังเกตุ บิดามารดาต้องรับผิดหรือไม่

ผู้เยาว์ขับรถโดยบิดามารดาไม่ได้ควบคุมและสังเกตุ บิดามารดาต้องรับผิดหรือไม่

1878

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า การที่บริษัทสินสวัสดิ์ประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยของจำเลยตกลงยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแทนจำเลยให้แก่โจทก์เป็นเงิน 24,242 บาท และจำเลยยอมจ่ายเช็คชดใช้ให้โจทก์อีก 7,470 บาท ซึ่งโจทก์ได้ตกลงยอมรับตามนั้นแล้ว จึงถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่แล้ว โจทก์จะมาฟ้องเรียกหนี้เดิมในมูลละเมิดจากจำเลยอีกไม่ได้นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณีพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยนี้ไม่ได้มีการตกลงเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่เป็นลูกหนี้เจ้าหนี้หรือเปลี่ยนแปลงวัตถุแห่งหนี้หรือมีการก่อให้เกิดนิติกรรมสัญญาใหม่แทนหนี้ละเมิดเดิมแต่อย่างใดก็หาไม่คงมีแต่ผู้รับประกันภัยของจำเลยซึ่งมีหน้าที่รับผิดต่อโจทก์โดยตรงอยู่แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 รับรองต่อจำเลยว่าจะใช้หนี้ให้โจทก์บางส่วนแต่แล้วก็ไม่ใช้ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ในมูลหนี้ละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 อยู่แล้ว ก็ได้ทำการชำระหนี้เพียงบางส่วนให้แก่โจทก์เท่านั้น อันเป็นการค้ำจุนสนับสนุนหนี้ในมูลละเมิดเดิมของโจทก์นั่นเองไม่มีผลเป็นการระงับหนี้เดิมและก่อหนี้ใหม่ขึ้นผูกพันกันแทนหนี้เดิมแต่อย่างใด ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ได้ทำความตกลงยอมรับค่าเสียหายเพียง 30,705 บาทนั้น ก็หาได้มีหลักฐานสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์มาแสดงแต่อย่างใดไม่ จึงรับฟังไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 851 ส่วนการที่จำเลยที่ 3 ได้ทำหลักฐานไว้ที่หลังนามบัตรหมาย จ.2 ยอมรับผิดในค่าเสียหาย โดยยอมให้โจทก์นำรถไปซ่อมที่อู่ยนตร์กิจก็ดี หรือการที่จำเลยที่ 2 ได้เซ็นสั่งจ่ายเช็คหมาย จ.3จำนวนเงิน 2,491 บาทให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าเสียหายบางส่วนแล้วเปลี่ยนใจสั่งระงับเช็คนั้นไว้ในภายหลังก็ดี ล้วนเป็นหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยฝ่ายเดียวยอมรับผิดในหนี้ละเมิดรายนี้ต่อโจทก์ อันเป็นหลักฐานค้ำจุนสนับสนุนหนี้ในมูลละเมิดเดิมของโจทก์นั่นเอง จะถือว่าได้มีการแปลงหนี้ใหม่แล้วหาได้ไม่เพราะไม่มีหนี้ใหม่เกิดขึ้น และหนี้เดิมก็ไม่ได้ระงับไปแต่อย่างใด

ในประเด็นสุดท้ายที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้ปล่อยให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ทำการขับรถยนต์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์อายุเพียง 15 ปี และอยู่ร่วมบ้านเดียวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ในบ้านออกมาขับขี่ไปไหนมาไหนได้ แสดงว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ควบคุมดูแลบุตรผู้เยาว์ของตนให้ดี จำเลยที่ 2 เบิกความว่าจำเลยที่ 1 จะเคยขับรถยนต์ดังกล่าวสักกี่ครั้งไม่ได้สังเกต แสดงว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร และได้ปล่อยปละละเลยให้บุตรผู้เยาว์ของตนขับรถยนต์ไปไหนมาไหนได้โดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ เมื่อไปเกิดชนรถของโจทก์โดยละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเช่นนี้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาย่อมต้องรับผิดร่วมด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429″

พิพากษายืน

สรุป

การที่ผู้รับประกันภัยของจำเลยซึ่งมีหน้าที่รับผิดต่อโจทก์โดยตรงอยู่แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 รับรองต่อโจทก์ว่าจะใช้หนี้ให้บางส่วน และจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ในมูลหนี้ละเมิดก็ได้ทำการชำระหนี้เพียงบางส่วนแก่โจทก์เป็นเพียงการค้ำจุนสนับสนุนหนี้ในมูลละเมิดเดิมของโจทก์เท่านั้นไม่มีผลเป็นการระงับหนี้เดิมและก่อหนี้ใหม่อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่แต่อย่างใด

จำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์อายุ 15 ปี นำรถยนต์ในบ้านออกมาขับขี่ไปไหนมาไหนได้โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาไม่ได้ควบคุมดูแลจำเลยที่ 1 ให้ดีจำเลยที่ 1 จะขับรถยนต์ดังกล่าวสักกี่ครั้งก็ไม่ได้สังเกตเช่นนี้ ถือว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถชนรถของโจทก์เสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดแก่โจทก์จำเลยที่ 2 ที่ 3 ย่อมต้องรับผิดด้วยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429

Facebook Comments