โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334,335 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 23,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1) วรรคสอง จำคุก 3 ปี และให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 23,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บัตรบริการเงินด่วนเอ.ที.เอ็ม. ของธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย จำกัดที่ออกให้แก่ผู้เสียหายรวม 2 ฉบับ ได้หายไป ต่อมาผู้เสียหายได้คืนแล้วจำเลยรับอาสาผู้เสียหายว่าจะไปตรวจสอบยอดเงินในบัญชีเงินฝากให้ เพราะเกรงว่าบัตรบริการเงินด่วนดังกล่าวอาจถูกบุคคลอื่นใช้ถอนเงินไปแล้ว ผู้เสียหายจึงได้มอบบัตรบริการเงินด่วนทั้งสองฉบับให้จำเลยพร้อมบอกหมายเลขรหัสให้จำเลยทราบ ต่อมาจำเลยนำบัตรบริการเงินด่วนทั้งสองฉบับดังกล่าวไปใช้เบิกถอนเงินจากตู้เอ.ที.เอ็ม. ของทางธนาคารเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท และ 3,000 บาทตามลำดับ และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยรับอาสาว่าจะนำบัตรบริการเงินด่วนของผู้เสียหายไปตรวจสอบยอดเงินในบัญชีเงินฝาก แต่กลับนำบัตรบริการเงินด่วนดังกล่าวไปเบิกถอนเงินจากตู้ เอ.ที.เอ็ม. ของธนาคารไป เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าจำเลยหลอกลวงเอาบัตรบริการเงินด่วนของผู้เสียหายเพื่อนำไปใช้เบิกถอนเอาเงินจากตู้ เอ.ที.เอ็ม. ของทางธนาคาร และการที่จำเลยใช้บัตรบริการเงินด่วนของผู้เสียหายเบิกถอนเงินจากตู้ เอ.ที.เอ็ม.ของธนาคาร โดยการเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากในธนาคารของผู้เสียหาย ถือได้ว่าเงินที่จำเลยเบิกถอนเงินจากตู้ เอ.ที.เอ็ม.เป็นเงินของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงเงินจำนวน 20,000 บาท และ 3,000 บาทของผู้เสียหาย ซึ่งแม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลก็ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 4,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ถ้าจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
สรุป
การที่จำเลยรับอาสาว่าจะนำบัตรบริการเงินด่วนของผู้เสียหายไปตรวจสอบยอดเงินในบัญชีเงินฝากแต่กลับนำบัตรบริการเงินด่วนดังกล่าวไปเบิกถอนเงินจากตู้เอ.ที.เอ็ม.ของธนาคารเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าจำเลยหลอกลวงเอาบัตรบริการเงินด่วนของผู้เสียหายเพื่อนำไปใช้เบิกถอนเอาเงินจากตู้เอ.ที.เอ็ม.และการที่จำเลยใช้บัตรบริการเงินด่วนของผู้เสียหายเบิกถอนเงินถือได้ว่าเงินที่จำเลยเบิกถอนจากตู้เอ.ที.เอ็ม.เป็นเงินของผู้เสียหายการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์แต่ทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงศาลก็ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคสาม