โอนขายที่ดินในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 กับพวกเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ เรียกค่าเสียหายฐานละเมิด ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1293/2534 ศาลจังหวัดนครสวรรค์และศาลอุทธรณ์ภาค 2มีคำพิพากษาแล้ว โดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาเมื่อวันที่15 ตุลาคม 2535 ให้จำเลยที่ 3 กับพวกร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 269,018 บาท คดีแพ่งดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2534 โจทก์ประสงค์บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 จึงทราบว่าจำเลยที่ 3 โอนทรัพย์สินเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 928และเลขที่ 371 ให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3เป็นคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ต่อศาลชั้นต้นตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1754/2535 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ต่อมาวันที่ 17 กันยายน2536 โจทก์ไปตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 อีกทราบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 371 ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 31มกราคม 2535 ซึ่งจำเลยที่ 2 ทราบดีว่าโจทก์กำลังดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 และโจทก์จะนำยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3ชำระหนี้ จำเลยทั้งสามมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1และที่ 2 ให้ประทับฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 3 โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 3เป็นคดีอาญาว่าโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเจตนาไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรค 2(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 จำคุก 6 เดือน ปรับ 3,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปีไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว โจทก์ฎีกาข้อเดียวว่าคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 กับพวกเกิดจากมูลละเมิดมีมูลหนี้แน่นอนนับแต่วันทำละเมิด จำเลยทั้งสามย่อมทราบดีอยู่แล้วว่ามีหนี้อันจะพึงชำระให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสามร่วมกันจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สิน ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าโจทก์ใช้สิทธิทางศาล จึงมีความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้ เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องโจทก์และตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1นำสืบว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 3 กับพวกเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายฐานละเมิด ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา จำเลยที่ 3โอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 928และเลขที่ 371 ตำบลหูกวาง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันที่ 3 ธันวาคม 2533 ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 กับพวกร่วมกันชำระเงินจำนวน 162,818 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย โจทก์อุทธรณ์ฝ่ายเดียว ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 371 ซึ่งจำเลยที่ 1รับโอนมาจากจำเลยที่ 3 ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 31 มกราคม2535 เห็นว่า แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 3 กับพวกเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายฐานละเมิด แต่จำเลยที่ 3 ก็ให้การต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิด เมื่อขณะจำเลยที่ 3 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยที่ 3จะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวนเท่าใด และยังไม่แน่นอนว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 3 หรือไม่ข้อเท็จจริงจึงไม่พอฟังว่าขณะจำเลยที่ 3 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอที่จะชำระหนี้ให้โจทก์ และจำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 3 เพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 จึงเป็นการโอนโดยชอบ ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อไปจึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน
สรุป
แม้โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากจำเลยที่ 3กับพวก แต่จำเลยที่ 3 ก็ให้การต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิดเมื่อขณะจำเลยที่ 3 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงินเท่าใด และยังไม่แน่นอนว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 3 หรือไม่ การโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 เป็นการโอนโดยชอบ การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อไป จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้