-
จุดที่ศาลฎีกาวินิจฉัย คำให้การในคดีผิดสัญญาก่อสร้าง
-
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 4,842,596.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,262,288.49 บาท (ที่ถูก 4,264,288.49 บาท) นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีโดยการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลนั้น ให้จำเลยทั้งสองนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,366,995.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีโดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์นั้น ให้จำเลยทั้งสองนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่เสียเกินมา 85,594 บาท แก่จำเลยทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 มหาวิทยาลัยพะเยาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ปรับปรุงถนนและภูมิทัศน์ภายในมหาวิทยาลัยพะเยาตามสัญญาจ้างเลขที่ 23/2556 แล้วจำเลยทั้งสองว่าจ้างโจทก์ดำเนินการปรับปรุงถนนและภูมิทัศน์ภายในมหาวิทยาลัยพะเยาแทน ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องชำระค่าจ้างสำหรับงานจุดที่ 1 ถึงที่ 5 ตามงวดงานที่ 2 ถึงที่ 4 เนื่องจากโจทก์ทำงานงวดที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่แล้วเสร็จ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น คดีนี้จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างปรับปรุงถนนและภูมิทัศน์ภายในมหาวิทยาลัยพะเยา โจทก์ไม่ใช่ผู้ก่อสร้าง เอกสารราคาค่าก่อสร้างเป็นการกะประมาณราคา ไม่ใช่ราคาวัสดุและค่าแรงงานที่โจทก์ได้จ่ายไปจริง โจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับเหมาช่วงหรือลูกจ้าง หรือคู่สัญญากับจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองเป็นผู้ก่อสร้างโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองเองทั้งสิ้น ซึ่งเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองให้การอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องใช้ค่าเสียหายหรือค่าจ้างแก่โจทก์เพราะโจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับเหมาช่วงหรือคู่สัญญากับจำเลยทั้งสอง มิได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าโจทก์ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จแต่อย่างใด การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า โจทก์ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ จึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การ ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องชำระค่าจ้างสำหรับงานจุดที่ 1 ถึงที่ 5 ตามงวดงานที่ 2 ถึงที่ 4 เนื่องจากโจทก์ทำงานงวดที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่แล้วเสร็จ จึงถือได้ว่าเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสอง คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลยทั้งสอง
- สรุป
- จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างปรับปรุงถนนและภูมิทัศน์ภายในมหาวิทยาลัยพะเยา โจทก์ไม่ใช่ผู้ก่อสร้าง เอกสารราคาค่าก่อสร้างเป็นการกะประมาณราคา ไม่ใช่ราคาวัสดุและค่าแรงงานที่โจทก์ได้จ่ายไปจริง โจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับเหมาช่วงหรือลูกจ้าง หรือคู่สัญญากับจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองเป็นผู้ก่อสร้างโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองเองทั้งสิ้น ซึ่งเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองให้การอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องใช้ค่าเสียหายหรือค่าจ้างแก่โจทก์เพราะโจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับเหมาช่วงหรือคู่สัญญากับจำเลยทั้งสอง มิได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าโจทก์ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จแต่อย่างใด การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า โจทก์ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จจึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องชำระค่าจ้างเนื่องจากโจทก์ทำงานไม่แล้วเสร็จ จึงถือได้ว่าเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
จุดที่ศาลฎีกาวินิจฉัย คำให้การในคดีผิดสัญญาก่อสร้าง
Facebook Comments