Home บทความคดีแพ่ง ออกเช็คในขณะที่บัญชีปิดแล้ว มีความผิดทางอาญาหรือไม่

ออกเช็คในขณะที่บัญชีปิดแล้ว มีความผิดทางอาญาหรือไม่

2561

ออกเช็คในขณะที่บัญชีปิดแล้ว มีความผิดทางอาญาหรือไม่

โจทก์ฟ้องว่า (1) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2502 จำเลยบังอาจออกเช็คธนาคารแห่งอเมริกา ลงวันสั่งจ่ายในวันที่ 31 ตุลาคม 2504 สั่งจ่ายเงินจำนวน 8,000 บาท ให้แก่นางขจี วิริยะวิทย์ ผู้ทรงเช็คเพื่อเป็นการชำระหนี้ ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2505 นางขจี ผู้ทรงเช็คได้นำเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากที่ธนาคารอื่น และในวันเดียวกันนั้นธนาคารแห่งอเมริกาได้ปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คนั้น ทั้งนี้โดยขณะที่จำเลยออกเช็ค จำเลยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คได้ โดยบัญชีเงินฝากของจำเลยปิดแล้ว และจำเลยออกเช็คดังกล่าวโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ทั้งเมื่อจำเลยได้ทราบความผิดของจำเลยแล้ว จำเลยก็มิได้นำเงินตามจำนวนในเช็คไปชำระแก่นางขจีผู้ทรงเช็ค (2) นางขจีได้ร้องทุกข์เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2505 (3) ก่อนคดีนี้ จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกมาแล้วฐานผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ปรากฏตามในประวัติฯ ท้ายฟ้องพ้นโทษไปยังไม่เกิน 5 ปี ก็มากระทำผิดในคดีนี้อีกขอให้เพิ่มโทษจำเลยด้วย อนึ่ง จำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2212/2505 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 และนับโทษต่อ

จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง และรับว่าเป็นจำเลยคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาดำที่ 2212/2505 จริง

โจทก์จำเลยไม่สืบพยาน

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ให้จำคุก 1 เดือนรับลดกึ่ง คงจำคุก 15 วัน นับโทษต่อคดีอาญาดำที่ 2212/2505 (แดงที่ 1981/2505 ของศาลอาญา)

โจทก์อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ด้วย

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำรับสารภาพของจำเลยหาได้หมายความไปถึงข้อเคยต้องโทษตามฟ้องว่าเป็นความจริงหรือไม่ จะเพิ่มโทษไม่ได้ตามนัยฎีกาที่ 6/2487 และ 936/2500

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าในขณะที่จำเลยออกเช็คนั้นจำเลยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คได้ โดยบัญชีเงินฝากของจำเลยปิดแล้ว เช่นนี้ คดีจึงมีปัญหาที่ควรวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ หรือไม่ ได้ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า เมื่อบุคคลใดทำเป็นหนังสือตราสารซึ่งมีรายการครบถ้วนบริบูรณ์ตามลักษณะดังกล่าวไว้ในมาตรา 987, 988 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วก็เป็นเช็ค ผู้ทรงนำไปขึ้นเงินไม่ได้ ผู้ออกเช็คก็ย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497

ในปัญหาเรื่องคำรับสารภาพของจำเลยนั้น ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ได้กล่าวข้อเท็จจริงมาในฟ้องข้อ 3 โดยชัดแจ้งและได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 อันเป็นเรื่องเพิ่มโทษมาในคำขอท้ายฟ้องด้วยเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโดยมิได้โต้แย้งประการใด ก็ถือได้ว่าจำเลยรับในข้อเท็จจริงที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษนั้นด้วย

ส่วนปัญหาในข้อที่ว่าจะถือว่าจำเลยลงมือกระทำความผิดเมื่อใดความผิดเกิดขึ้นเมื่อใด จะเพิ่มโทษได้หรือไม่นั้น ได้ความว่าเป็นกรณีออกเช็คล่วงหน้า โดยจำเลยเขียนเช็คเมื่อ 30 ตุลาคม 2502 ลงวันสั่งจ่ายวันที่ 31 ตุลาคม 2504 จำเลยต้องโทษจำคุกฐานกระทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ในปี พ.ศ. 2503 รวม 3 สำนวน พ้นโทษคดีสุดท้ายเมื่อ 28 มกราคม 2504 ดังนี้ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ในกรณีเรื่องออกเช็คล่วงหน้านั้น วันที่เขียนเช็คยังไม่ถือว่าเป็นวันออกเช็ค ต้องถือวันที่ลงในเช็คเป็นวันออกเช็ค คือ วันที่ 31 ตุลาคม 2504 และตามบทบัญญัติมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ต้องถือว่าวันออกเช็ค คือ วันที่ 31 ตุลาคม 2504 เป็นวันที่จำเลยเริ่มต้นกระทำการอันจะก่อให้เกิดความผิด และความผิดได้เกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันที่ 23 มกราคม 2505 ซึ่งยังไม่เกิน 5 ปี นับแต่จำเลยพ้นโทษในคดีก่อน ย่อมเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ได้

พิพากษาแก้เฉพาะให้จำคุก 1 เดือน เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 อีกหนึ่งในสาม รวมเป็นจำคุก 40 วัน ลดตามมาตรา78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 20 วัน

Facebook Comments