Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ คำพิพากษาให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนร่วมกับคดีอาญา ผูกพันเงื่อนไขข้อกฎหมายในการอุทธรณ์ฎีกาหรือไม่

คำพิพากษาให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนร่วมกับคดีอาญา ผูกพันเงื่อนไขข้อกฎหมายในการอุทธรณ์ฎีกาหรือไม่

1224

คำพิพากษาให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนร่วมกับคดีอาญา ผูกพันเงื่อนไขข้อกฎหมายในการอุทธรณ์ฎีกาหรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) (8), 78, 157, 160 ริบรถกระบะของกลาง

ระหว่างพิจารณา นางสาวอารีรัตน์ ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นค่ารักษาพยาบาล 110,000 บาท ค่าขาดรายได้ 175,000 บาท ค่ารถยนต์เสียหาย 909,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการเช่ารถยนต์แทนรถยนต์ที่เสียหาย 50,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลในอนาคต 180,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,424,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 และรับคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

จำเลยให้การรับสารภาพ และให้การในคดีส่วนแพ่งว่า โจทก์ร่วมเรียกค่าเสียหายสูงเกินจริง ค่ารักษาพยาบาลไม่ควรเกิน 20,000 บาท ค่าขาดรายได้ไม่ควรเกิน 2,000 บาท ค่ารถยนต์เสียหายไม่ควรเกิน 250,000 บาท โจทก์ร่วมไม่ได้เช่ารถยนต์จึงไม่มีความเสียหายเรื่องค่าเช่ารถยนต์ สำหรับค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่อง 180,000 บาท นั้น โจทก์ร่วมไม่มีหลักฐานและรายละเอียดของการรักษาที่ชัดเจนและซ้ำซ้อนกับค่าเสียหายข้างต้น บริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่โจทก์ร่วมขับได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ร้อยตำรวจโทสุทัศ ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้อีก

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) (8), 78, 157, 160 (ที่ถูก มาตรา 160 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานขับรถยนต์โดยประมาทกับฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 4,000 บาท ฐานขับรถก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินแล้วไม่หยุดช่วยเหลือตามสมควร จำคุก 1 เดือน ฐานขับรถยนต์โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น จำคุก 1 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 2 เดือน และปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 2,000 บาท ให้กักขัง 30 วัน แทนโทษจำคุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบรถกระบะของกลาง ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 637,200 บาท โดยให้นำเงินที่จำเลยชำระไปแล้ว 120,000 บาท หักออกจากเงินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 วรรคหนึ่งก่อน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่เหลือนับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม และให้จำเลยชำระค่าทนายความแทนโจทก์ร่วมเป็นเงิน 3,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนคดีแพ่งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่ผู้เสียหายเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา แต่หากคดีส่วนอาญาต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาหรือยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ คดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 สำหรับคดีนี้คดีส่วนอาญาไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาจึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาคดีส่วนแพ่งจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 244/1 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 247 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” และมาตรา 247 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา” และวรรคสอง บัญญัติว่า “การขออนุญาตฎีกาให้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น…” เช่นนี้คำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 244/1 จำเลยจะฎีกาได้ต่อเมื่อยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาพร้อมกับคำฟ้องฎีกาและได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาจึงจะมีสิทธิฎีกาได้ การที่จำเลยยื่นฎีกาโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาด้วยจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาไว้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายกฎีกาของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

  • สรุป
  • การยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่ผู้เสียหายเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา แต่หากคดีส่วนอาญาต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาหรือยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ คดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 คดีนี้คดีส่วนอาญาไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาจึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาคดีส่วนแพ่งจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 247 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” และมาตรา 247 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา” และวรรคสอง บัญญัติว่า “การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น…” เช่นนี้ คำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 จำเลยจะฎีกาได้ต่อเมื่อยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาพร้อมกับคำฟ้องฎีกาและได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา จึงจะมีสิทธิฎีกาได้ การที่จำเลยยื่นฎีกาโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาด้วยจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
Facebook Comments