Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ จุดใดบ้างที่ศาลฎีกาวินิจฉัยการฟ้องคดีโดยสุจริตในคดีละเมิดเรียกค่าเสียหายจากการซ่อมรถยนต์

จุดใดบ้างที่ศาลฎีกาวินิจฉัยการฟ้องคดีโดยสุจริตในคดีละเมิดเรียกค่าเสียหายจากการซ่อมรถยนต์

1646

จุดใดบ้างที่ศาลฎีกาวินิจฉัยการฟ้องคดีโดยสุจริตในคดีละเมิดเรียกค่าเสียหายจากการซ่อมรถยนต์

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันนำรถยนต์ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู หมายเลขทะเบียน ภร 4924 กรุงเทพมหานคร คืนไปจากโจทก์ และชำระเงิน 920,000 บาท กับชำระเงินอีกวันละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรับรถยนต์คืนไปจากโจทก์

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน 3,000,000 บาท แก่จำเลยทั้งสอง

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ไปรับรถยนต์ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู หมายเลขทะเบียน ภร 4924 กรุงเทพมหานคร คืนไปจากโจทก์ และชำระเงินแก่โจทก์วันละ 500 บาท นับแต่วันที่ 6 มกราคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะรับรถยนต์พิพาทคืนไปจากโจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องโจทก์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 1 ใช้ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นเงิน 250,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาล และระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการซ่อมแซมและตรวจสอบเครื่องยนต์รถยนต์ทุกชนิด จำหน่ายรถยนต์และอุปกรณ์รถยนต์ จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 และนายสุชิน เป็นกรรมการ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู หมายเลขทะเบียน ภร 4924 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 นำรถยนต์พิพาทไปซ่อมแซมที่ศูนย์บริการของโจทก์ซึ่งเป็นการซ่อมแซมตามเงื่อนไขในสัญญาประกันภัยที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับบริษัทประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ยังว่าจ้างให้โจทก์ทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องอีกด้วย ปรากฏตามใบแจ้งความเสียหาย ใบเสนอราคาประกันภัย/ลูกค้า และใบแจ้งซ่อม และรับรถยนต์พิพาทกลับคืนไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2556 ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2556 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 นำรถยนต์พิพาทไปที่ศูนย์บริการของโจทก์เพื่อซ่อมแซมกระจกบังลมหน้า ฟิลม์ และคิ้วกระจกบังลม ตามที่จำเลยทั้งสองได้แจ้งความเสียหายไว้กับบริษัทประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน)

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 นำรถยนต์พิพาทไปซ่อมที่ศูนย์บริการของโจทก์และรับรถยนต์พิพาทกลับคืนไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2556 หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 นำรถยนต์พิพาทไปที่ศูนย์บริการของโจทก์เพื่อให้โจทก์ทำการซ่อมแซมอีกครั้งโดยซ่อมแซมกระจกบังลมหน้า ฟิล์ม และคิ้วกระจกบังลมหลัง ตามใบแจ้งซ่อมของบริษัทผู้รับประกันภัย ซึ่งโจทก์ดำเนินการซ่อมแซมแล้วเสร็จและบริษัทผู้รับประกันภัยได้ชำระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมให้แก่โจทก์แล้ว สำหรับการซ่อมระบบเบรก จำเลยที่ 2 แจ้งให้โจทก์ซ่อมในขณะที่รถยนต์พิพาทอยู่ในครอบครองของโจทก์เพื่อซ่อมแซมตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว เมื่อพนักงานของโจทก์ตรวจสอบพบว่าผ้าเบรกใกล้หมดทำให้เกิดเสียงดัง และจานเบรกต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานและได้โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ ซึ่งจำเลยที่ 2 รับทราบและให้ซ่อมได้ แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ลงชื่อในใบสั่งซ่อมตามที่โจทก์ฎีกา แต่สัญญาจ้างทำของ กฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างทำของ โดยโจทก์เป็นผู้รับจ้าง ส่วนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้าง กรณีจึงต้องบังคับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 7 ว่าด้วยจ้างทำของ ซึ่งตามบทบัญญัติในลักษณะ 7 ดังกล่าว มาตรา 593 บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ว่าจ้างในการที่จะบอกเลิกสัญญาแก่ผู้รับจ้างได้ในกรณีที่ผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันควร หรือทำการชักช้าฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญา หรือทำการชักช้าโดยปราศจากความผิดของผู้ว่าจ้าง จนอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าการนั้นจะไม่สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ดังนั้น หากจำเลยทั้งสองเห็นว่าโจทก์ไม่ทำการซ่อมรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ภายในเวลาอันสมควร เป็นการผิดสัญญาต่อจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองก็ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้วนำรถยนต์พิพาทกลับคืนมา ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ว่าเกิดจากการผิดสัญญาของโจทก์หรือเกิดจากการกระทำละเมิดของโจทก์ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่โจทก์อีกส่วนหนึ่ง การที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมไปรับรถยนต์พิพาทคืนทั้งที่อยู่ในวิสัยที่คาดหมายได้ว่า โจทก์ไม่ดำเนินการซ่อมระบบเบรกรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองอย่างแน่นอน โดยยังคงจอดรถยนต์พิพาททิ้งไว้บริเวณศูนย์บริการของโจทก์มาเป็นเวลาหลายปีเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในการที่จะใช้ประโยชน์ในสถานที่ที่จำเลยทั้งสองจอดรถยนต์พิพาททิ้งไว้ การที่โจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับรถยนต์พิพาทกลับคืนไปและชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น จึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยเห็นว่าการที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสองมีอำนาจฟ้องแย้งโจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้การที่โจทก์ไม่ดำเนินการซ่อมระบบเบรกของรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยทั้งสอง อาจเป็นการผิดสัญญาจ้างทำของรวมทั้งอาจเป็นการทำละเมิดต่อจำเลยทั้งสองตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างก็ตาม จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิเพียงเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ หามีสิทธิใดๆ ที่จะจอดรถยนต์พิพาททิ้งไว้ที่ศูนย์บริการของโจทก์เป็นเวลานานเกินสมควรไม่ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมรับรถยนต์พิพาทคืนทั้งที่โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองไปรับรถยนต์พิพาทคืนแล้ว และยังฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าเสียหายที่เกิดจากการจอดรถยนต์ทิ้งไว้เป็นเวลานานนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยทั้งสองตามฟ้องแย้งมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเป็นค่าจอดรถวันละ 1,000 บาท นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นมา จึงเป็นกรณีที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการทำละเมิดของจำเลยทั้งสองเป็นรายวัน ซึ่งโจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นมา เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้การกระทำของจำเลยทั้งสองจะเป็นการทำละเมิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 นำรถยนต์พิพาทไปจอดไว้ที่ศูนย์บริการของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้เป็นรายวันดังกล่าว สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายส่วนที่เกิน 1 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนไปจึงย่อมขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระค่าเสียหาย 1 ปี ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่โจทก์ฟ้องคดีจึงชอบแล้ว ส่วนที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์วันละ 500 บาท นั้น เห็นว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเป็นอย่างอื่น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้ทำละเมิด ดังนั้น เมื่อตามข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้นำรถยนต์พิพาทไปจอดไว้ที่ศูนย์บริการของโจทก์ และโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ไปรับรถยนต์พิพาทคืนแล้ว แต่จำเลยที่ 2 เพิกเฉย กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน

เมื่อได้วินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง และขอให้โจทก์ชำระค่าเสียหายตามฟ้องแย้งนั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองไปรับรถยนต์ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู หมายเลขทะเบียน ภร 4924 กรุงเทพมหานคร คืนไปจากโจทก์ และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 500 บาท นับแต่วันที่ 6 มกราคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรับรถยนต์พิพาทคืนไปจากโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสองใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในศาลชั้นต้น ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองทั้งสามศาลให้เป็นพับ

สรุป

การที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมไปรับรถยนต์พิพาทคืนทั้งที่อยู่ในวิสัยที่คาดหมายได้ว่า โจทก์ไม่ดำเนินการซ่อมระบบเบรกรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองอย่างแน่นอน โดยยังคงจอดรถยนต์พิพาททิ้งไว้บริเวณศูนย์บริการของโจทก์มาเป็นเวลาหลายปี ย่อมถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในการที่จะใช้ประโยชน์ในสถานที่ที่จำเลยทั้งสองจอดรถยนต์พิพาททิ้งไว้ การที่โจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับรถยนต์พิพาทกลับคืนไปและชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองไม่ยอมรับรถยนต์พิพาทคืนทั้งที่โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองไปรับรถยนต์พิพาทคืนแล้ว และยังฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าเสียหายที่เกิดจากการจอดรถยนต์ทิ้งไว้เป็นเวลานานนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง

แม้การกระทำของจำเลยทั้งสองจะเป็นการทำละเมิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 2 นำรถยนต์พิพาทไปจอดไว้ที่ศูนย์บริการของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้เป็นรายวัน สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายส่วนที่เกิน 1 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนไปจึงย่อมขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระค่าเสียหาย 1 ปี ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่โจทก์ฟ้องคดีจึงชอบแล้ว

Facebook Comments