ศาลมีอำนาจงดเบี้ยปรับ ในคดีผิดสัญญาก่อสร้างได้หรือไม่
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2537 จำเลยทำสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ไปจากโจทก์ จำเลยสัญญาว่าจะชำระค่าเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมเดือนละ 900 บาท โดยชำระทุกวันที่ 10 ของทุกเดือน นับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2537 จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2538 ต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2539 ได้มีประกาศกระทรวงคมนาคมซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมพ.ศ. 2498 เรื่องกำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุโดยจำเลยผู้ใช้ความถี่วิทยุคมนาคมต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่รายปีและต้องชำระค่าตอบแทนภายในเวลาที่กำหนด หากไม่ชำระหรือชำระเกินกำหนดเวลาจะต้องเสียค่าตอบแทนการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อวันนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดจนถึงวันชำระเสร็จ ซึ่งตามประกาศดังกล่าวจำเลยจะต้องชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุในอัตราปีละ 3,200 บาท ต่อมาจำเลยผิดสัญญาเช่าโดยค้างชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนตุลาคม2539 ถึงเดือนพฤษภาคม 2540 เป็นเวลา 8 เดือน คิดเป็นเงินค่าเช่าจำนวน 7,200 บาท และค้างชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่ของวิทยุปี2539 เป็นเงินจำนวน 3,200 บาท รวมเป็นเงินค่าเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องจำนวน 11,571.52 บาท และยังค้างชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่เพิ่มในอัตราวันละ 32 บาทนับตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2541 คิดเป็นเงินจำนวน 3,360 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 14,931.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,400 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระค่าตอบแทนในการใช้วิทยุความถี่เพิ่มในอัตราวันละ 32 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 11,571.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 10,400 บาทนับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยทำสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์จากโจทก์แล้วค้างชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2539 ถึงเดือนพฤษภาคม 2540 เป็นเงิน 7,200 บาทค้างชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุปี 2539 เป็นเงิน 3,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้อง และยังค้างชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่เพิ่มในอัตราวันละ 32 บาท นับตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2541 คดีมีปัญหาเฉพาะข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า การกำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในกรณีที่ไม่ชำระหรือชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเกินกำหนดเวลาเป็นเบี้ยปรับหรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 11 ทวิ ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนใช้ความถี่วิทยุ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุที่ไม่ชำระหรือชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเกินกำหนดเวลาต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อวันนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดจนถึงวันที่ชำระแล้วเสร็จ ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ ข้อ 6.3 ก็ตาม แต่คดีนี้จำเลยทำสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมของกรมไปรษณีย์โทรเลขจากโจทก์ โดยจำเลยต้องชำระค่าเช่าเดือนละ 900 บาท ภายในวันที่ 10 ของทุกเดือนตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 3 และจำเลยจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 กฎหมาย ระเบียบและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดและต้องรับผิดในกรณีที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดนั้น ๆ ด้วย ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 4 ดังนั้น ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ จึงเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่า ตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 4 ด้วย เมื่อจำเลยไม่ชำระหรือชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเกินกำหนดจำเลยต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อวัน นับถัดจากวันครบกำหนดจนถึงวันที่ชำระแล้วเสร็จ ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ ข้อ 6.3 ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 4 เงินค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จำเลยสัญญาว่าจะใช้ให้แก่โจทก์เป็นเบี้ยปรับเมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ดังนั้นเมื่อเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามการที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดให้จำเลยใช้ค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่ม อันเป็นการงดเบี้ยปรับที่จำเลยต้องรับผิดชำระให้โจทก์เสียทั้งสิ้นนั้นไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยกำหนดให้จำเลยชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราวันละ 10 บาท นับตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2541 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดชำระจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราวันละ 10 บาท นับตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
- สรุป
-
จำเลยทำสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมจากกรมไปรษณีย์โทรเลขโจทก์ โดยจำเลยต้องชำระค่าเช่าเดือนละ 900 บาท และจำเลยจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 กฎหมาย ระเบียบและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดและต้องรับผิดในกรณีที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดนั้น ๆ ด้วย ดังนั้น ประกาศกระทรวงคมนาคมเรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ จึงเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าด้วย เมื่อจำเลยไม่ชำระหรือชำระค่าตอบแทนเกินกำหนด จำเลยต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อวัน นับถัดจากวันครบกำหนดจนถึงวันที่ชำระเสร็จ ตามประกาศกระทรวงคมนาคมฉบับดังกล่าว เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จำเลยสัญญาว่าจะใช้ให้แก่โจทก์เป็นเบี้ยปรับเมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 เมื่อเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง
การที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดให้จำเลยใช้ค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่ม อันเป็นการงดเบี้ยปรับที่จำเลยต้องรับผิดชำระให้โจทก์เสียทั้งสิ้น ไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายศาลฎีกาแก้ไขเสียใหม่ให้ถูกต้อง โดยกำหนดให้จำเลยชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราวันละ 10 บาท นับตั้งแต่วันถึงกำหนดชำระจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์