Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ การวินิจฉัยค่าเสียหายเกินกว่าที่โจทก์ฟ้องเป็นปัญหาความสงบเรียบร้อยหรือไม่

การวินิจฉัยค่าเสียหายเกินกว่าที่โจทก์ฟ้องเป็นปัญหาความสงบเรียบร้อยหรือไม่

980

การวินิจฉัยค่าเสียหายเกินกว่าที่โจทก์ฟ้องเป็นปัญหาความสงบเรียบร้อยหรือไม่

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,657,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,207,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามตามที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่นำค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ทรัพย์สิน 550,000 บาท ที่โจทก์ได้รับไปแล้วมาหักออกจากค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรับผิดเพิ่มขึ้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดเฉพาะค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะ ระหว่างพิจารณาคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในความผิดต่อชีวิต ประมาท ความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4197/2558 ของศาลชั้นต้น ปรากฏว่าโจทก์ได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทผู้รับประกันภัยรถบรรทุกตามกรมธรรม์ประกันภัยในส่วนความเสียหายแก่ชีวิตและร่างกาย 700,000 บาท ความเสียหายแก่ทรัพย์สิน 550,000 บาท และได้รับค่าสินไหมทดแทนจากฝ่ายจำเลยเป็นค่าปลงศพ 12,000 บาท การที่ศาลชั้นต้นนำค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ทรัพย์สิน 550,000 บาท ซึ่งโจทก์มิได้ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยมาหักออกจากค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะตามคำพิพากษา จึงเป็นการนำค่าสินไหมทดแทนนอกฟ้องนอกประเด็นและคนละประเภทกันมาหักจากค่าสินไหมทดแทนในคดีเกินกว่าสิทธิที่โจทก์เรียกร้องและจะได้รับ มีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่จำเลยทั้งสามได้ยื่นอุทธรณ์ เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเพื่อความเป็นธรรมแก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มิใช่เป็นการพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรับผิดเพิ่มขึ้นอันจะต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ดังที่จำเลยทั้งสามฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดเฉพาะค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะ การที่ศาลชั้นต้นนำค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ทรัพย์สินซึ่งโจทก์ได้รับจากบริษัทผู้รับประกันภัยและมิได้ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยมาหักออกจากค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะตามคำพิพากษา จึงเป็นการนำค่าสินไหมทดแทนนอกฟ้องนอกประเด็นและคนละประเภทกันมาหักจากค่าสินไหมทดแทนในคดีเกินกว่าสิทธิที่โจทก์เรียกร้องและจะได้รับ มีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเพื่อความเป็นธรรมแก่โจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มิใช่เป็นการพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรับผิดเพิ่มขึ้นอันจะต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

Facebook Comments