โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัวได้ออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด จำนวนเงิน 200,000 บาท เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้ายางรถยนต์และล้อแม็ก ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดธงชัยการยาง ผู้เสียหายครั้นเช็คฉบับดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงิน ผู้เสียหายนำเช็คไปเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคาร ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า”เงินในบัญชีไม่พอจ่ายและโปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ห้างหุ้นส่วนจำกัดธงชัยการยาง ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก6 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาตรวจวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ร่วมว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 หรือไม่เห็นว่า มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ” ฉะนั้นการออกเช็คของจำเลยทั้งสองจะเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ร่วมที่จะต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงให้ได้ความสองประการ ประการแรก มีหนี้ที่จะต้องชำระ ประการที่สองหนี้นั้นจะต้องบังคับได้ตามกฎหมาย ข้อเท็จจริงประการแรกได้ความจากนายธงชัย อิงคารานุวัฒน์ หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ร่วมว่าหนี้ที่จะต้องชำระคือหนี้ค่าสินค้ายางรถยนต์และล้อแม็กที่จำเลยทั้งสองซื้อไปจากโจทก์ร่วม แต่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 2 ออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ที่กู้ไปจากนายธงชัย ส่วนหนี้ค่าสินค้าดังกล่าวจำเลยทั้งสองชำระด้วยเช็คเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งต่อมาได้แปลงเป็นหนี้เงินกู้เจ้าหนี้ของนายธงชัยแทนตามเอกสารหมาย ล.4 แล้ว จึงเท่ากับจำเลยทั้งสองปฏิเสธว่า มูลหนี้ที่ออกเช็คในฟ้องไม่มีอยู่จริง เพราะจำเลยทั้งสองไม่ได้ออกเช็คพิพาทชำระหนี้ที่ซื้อสินค้าไปจากโจทก์ร่วมจึงมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่า มูลหนี้ตามเช็คพิพาทมาจากการขายสินค้ายางรถยนต์และล้อแม็กให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า สินค้ายางรถยนต์และล้อแม็กที่นายธงชัยเบิกความยืนยันว่า จำเลยทั้งสองซื้อไปและออกเช็คพิพาทชำระราคานั้นมีราคาสูงถึง 200,000 บาทกรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456วรรคสองและวรรคสามว่า เป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาห้าร้อยบาทหรือกว่านั้นขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญหรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ตามพยานหลักฐานที่โจทก์ร่วมนำสืบมามีเพียงคำเบิกความลอย ๆ ของนายธงชัยว่า จำเลยทั้งสองมาซื้อสินค้ายางรถยนต์และล้อแม็ก แต่หลักฐานที่แสดงว่าจำเลยทั้งสองได้ซื้อและรับสินค้าไปจากโจทก์ร่วมแล้วตามนัยแห่งกฎหมายดังกล่าวนั้นโจทก์ร่วมหาได้มีมาแสดงเพื่อสนับสนุนคำพยานของตนหรือนำสืบถึงเหตุที่ไม่อาจนำมาแสดงได้ไม่ พยานหลักฐานที่โจทก์ร่วมนำสืบมาจึงไม่พอฟังว่ามูลหนี้ที่จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเอกสารหมายจ.3 มาจากการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายสินค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม มูลหนี้ที่ออกเช็คในฟ้องจึงไม่มีอยู่จริง การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน
สรุป
การออกเช็คของจำเลยจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4หรือไม่ โจทก์จะต้องนำสืบข้อเท็จจริงให้ได้ความสองประการคือมีหนี้ที่จะต้องชำระ และหนี้นั้นจะต้องบังคับได้ตามกฎหมายคดีนี้ ธ. อ้างว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทชำระหนี้ค่าขายสินค้ายางรถยนต์และล้อแม็กแก่โจทก์ร่วม เป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคากว่า 500 บาทขึ้นไป แต่หลักฐานที่แสดงว่าจำเลยได้ซื้อและรับสินค้าไปจากโจทก์ร่วมแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม โจทก์ร่วมหาได้มีมาแสดงหรือนำสืบถึงเหตุที่ไม่อาจนำมาแสดงได้ไม่ จึงไม่พอฟังได้ว่า มูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทมาจากการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายสินค้าดังกล่าวมูลหนี้ที่ออกเช็คพิพาทจึงไม่มีอยู่จริง การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิด