ออกเช็คไม่ลงวันที่ แต่มีความตกลงกันเรื่องวันที่ มีความผิดทางอาญาหรือไม่
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ออกเช็คสั่งธนาคารจ่ายเงินให้โจทก์เพื่อชำระหนี้โดยไม่ลงวันที่ในเช็คไว้ ต่อมาโจทก์ได้จัดลงวันที่ในเช็คนั้นตามวันที่ตกลงให้หนี้ถึงกำหนด แล้วนำไปขึ้นเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายโดยให้เหตุผลว่า บัญชีปิดแล้ว จำเลยที่ 1 จะมีความผิดในทางอาญาหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เช็คที่จำเลยที่ 1 ได้ออกไปโดยไม่ลงวันที่ออกเช็คไว้ถือว่าไม่มีวันที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด แม้จำเลยที่ 1 กับโจทก์จะตกลงกันให้โจทก์ลงวันในเช็คนั้นเป็นวันใดวันหนึ่งก็เป็นเพียงให้เช็คได้มีรายการครบถ้วนตามกฎหมายเพื่อใช้ฟ้องร้องบังคับกันได้ในทางแพ่ง หาทำให้กลับเป็นความผิดทางอาญาไม่ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ออกเช็คกับจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังรับรองแม้จะร่วมกันออกเช็คนั้นตามฟ้องก็ไม่มีความผิดตามกฎหมาย”
พิพากษายืน
- สรุป
- จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้โจทก์โดยไม่ลงวันออกเช็ค ถือว่าไม่มีวันที่จำเลยกระทำความผิด แม้จะตกลงกันให้โจทก์ลงวันในเช็คนั้นเป็นวันใดวันหนึ่ง ก็เป็นเพียงให้เช็คได้มีรายการครบถ้วนตามกฎหมายเพื่อใช้ฟ้องร้องบังคับกันได้ในทางแพ่ง หาทำให้กลับเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คไม่