Home บทความคดีแพ่ง ออกเช็คเพื่อประกันหนี้ มีความผิดทางอาญาหรือไม่

ออกเช็คเพื่อประกันหนี้ มีความผิดทางอาญาหรือไม่

1289

ออกเช็คเพื่อประกันหนี้ มีความผิดทางอาญาหรือไม่

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมาย มาตรา 91 ตามคำฟ้องโจทก์ข้อ (ก) และ (ข) จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวม 2 กระทงจำคุก 2 เดือน ตามคำฟ้องโจทก์ข้อ (ค) จำคุก 2 เดือน ตามคำฟ้องโจทก์ ข้อ (ง) จำคุก 15 วัน รวมจำคุก 4 เดือน 15 วัน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยซื้อสินค้าอะไหล่รถยนต์จากผู้เสียหาย และได้ออกเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขานครชัยศรี รวม 4 ฉบับ ลงวันที่ 31 มกราคม 2540 วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2540 และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 สั่งจ่ายเงินจำนวน 76,590 บาท 156,078 บาท 59,400 บาท และ 26,000 บาท ตามลำดับมอบให้แก่ผู้เสียหาย ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทุกฉบับ

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยออกเช็คทั้งสี่ฉบับตามฟ้องเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายอันเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การออกเช็คของจำเลยเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าแก่ผู้เสียหายมิใช่ออกเช็คเพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาว่าหนี้ค่าสินค้าตามฟ้องเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่เสียก่อน ซึ่งปัญหานี้เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องวินิจฉัยประกอบกับข้อกฎหมายที่เป็นองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ตามคำฟ้องของโจทก์ และโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังข้อเท็จจริงตามองค์ประกอบความผิดนี้โดยปราศจากข้อสงสัยตามสมควร โดยตามพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาได้ความเพียงว่า จำเลยซื้อสินค้าอะไหล่รถยนต์จากผู้เสียหายอันเป็นมูลหนี้ค่าสินค้าที่ค้างชำระที่จำเลยออกเช็คตามฟ้องเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าดังกล่าวแก่ผู้เสียหายเท่านั้น และตามกระบวนพิจารณาคดีนี้ในชั้นสืบพยานโจทก์นั้นโจทก์ไม่ได้สืบพยานบุคคลที่รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการขายสินค้านี้ จนต่อมาเมื่อสืบพยานโจทก์ปากร้อยตำรวจเอกถิรวัฒน์ และพันตำรวจโทพงษ์สวัสดิ์ พนักงานสอบสวน ทนายจำเลยได้ถามค้านว่าสินค้าอะไหล่รถยนต์ที่ผู้เสียหายขายให้แก่จำเลยเป็นสินค้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พยานโจทก์สองปากดังกล่าวต่างก็เบิกความว่าพยานไม่ทราบ หลังจากนั้นโจทก์ก็แถลงหมดพยานโจทก์ จึงไม่มีพยานหลักฐานที่พิสูจน์ยืนยันข้อเท็จจริงว่าสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ช่วงเกิดเหตุจำเลยเป็นพนักงานขายสินค้าของบริษัทเอ.พี.เอส.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งประกอบกิจการจำหน่ายสายพานและไส้กรองสำหรับรถยนต์ต่อมานายหมูพนักงานของผู้เสียหายขอให้จำเลยช่วยจำหน่ายสินค้าให้ผู้เสียหายด้วย จำเลยก็ตกลงรับสินค้าของผู้เสียหายไปขายตามร้านค้าในจังหวัดต่างๆ ต่อมาเจ้าของร้านเล็กอะไหล่ยนต์ที่จังหวัดชุมพรซึ่งจำเลยนำสินค้าของผู้เสียหายไปขายให้ได้บอกแก่จำเลยว่า สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าลอกเลียนแบบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหากเก็บไว้แล้วอาจถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีได้ และจำเลยได้อ้างส่งวัตถุพยานสินค้าไส้กรองที่รับมาจากผู้เสียหายซึ่งมีเครื่องหมายการค้าโตโยต้าที่ให้ขายในราคา 50 บาท กับสินค้าไส้กรองที่มีเครื่องหมายการค้าโตโยต้าของแท้ที่ซื้อจากบริษัทโตโยต้านครปฐมจำกัด ซึ่งมีราคา 180 บาท ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าสินค้าของผู้เสียหายอาจเป็นสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าปลอมและการจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของผู้อื่นปลอมนั้นหากเป็นเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้วก็จะเป็นความผิดที่มีโทษอาญาตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 ประกอบมาตรา 108 แต่หากเป็นเครื่องหมายการค้าที่มิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ยังเป็นความผิดที่มีโทษอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของจำเลยที่ส่อแสดงว่าสินค้าที่ผู้เสียหายขายให้แก่จำเลยเป็นสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของผู้อื่นปลอม ในขณะที่โจทก์ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานยืนยันข้อเท็จจริงให้เห็นว่า สินค้าดังกล่าวมิใช่สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของผู้อื่นปลอมทั้งที่โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงนี้ให้ได้ความชัดเจนปราศจากข้อสงสัยตามสมควรดังกล่าวข้างต้น จึงย่อมฟังข้อเท็จจริงไม่ได้ว่า สินค้าที่ผู้เสียหายขายให้จำเลยเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะมีผลทำให้การซื้อขายสินค้าอันเป็นมูลหนี้ตามฟ้องระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยเป็นนิติกรรมที่มิได้ต้องห้ามตามกฎหมายแต่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันจะถือได้ว่าเป็นนิติกรรมที่ไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ซึ่งเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมายดังนี้จึงไม่อาจฟังได้ว่าหนี้ที่จำเลยออกเช็คให้แก่ผู้เสียหายเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมายการออกเช็คของจำเลยย่อมไม่ครบองค์ประกอบอันจะเป็นความผิดตามฟ้อง กรณีจึงไม่ต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์อีกต่อไป เพราะถึงวินิจฉัยไปก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

สรุป

จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าแก่ผู้เสียหาย หนี้ค่าสินค้าดังกล่าวจะต้องเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมายจึงจะครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า สินค้าที่ผู้เสียหายขายให้จำเลยเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะมีผลทำให้การซื้อขายสินค้าอันเป็นมูลหนี้ตามฟ้องระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยเป็นนิติกรรมที่มิได้ต้องห้ามตามกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันจะถือได้ว่าเป็นนิติกรรมที่ไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ซึ่งเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย ดังนี้จึงไม่อาจฟังได้ว่าหนี้ที่จำเลยออกเช็คให้แก่ผู้เสียหายเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย การออกเช็คของจำเลยจึงไม่ครบองค์ประกอบอันจะเป็นความผิดตามฟ้อง

Facebook Comments