โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 26 กันยายน 2533 เวลาประมาณ 6 นาฬิกาหลังจากที่นายไพฑูรย์ โล่วันทา และนายคนึง เกี๋ยงแก้ว ดื่มสุราจนมึนเมาแล้ว นายไพฑูรย์ได้ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน1 ย-4111 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไปในทางการที่จ้างมีนายคนึงถือพวงมาลัยช่วยขับไปตามถนนสายวังชิ้น-อำเภอลองมุ่งหน้าไปทางอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ขณะเดียวกันนายวีระ ทีเทศ ขับรถโดยสารประจำทางปรับอากาศหมายเลขทะเบียน10-1311 ชัยภูมิ ที่โจทก์เช่าซื้อจากบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์จำกัด ไปตามถนนไฮเวย์สายเด่นชัย-ลำปาง มุ่งหน้าไปยังจังหวัดลำปาง เมื่อรถยนต์ทั้งสองคันมาถึงสี่แยกแม่แขม ตำบลหัวทุ่งอำเภอลอง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ นายไพฑูรย์ขับรถด้วยความเร็วสูงและถนนที่ขับเป็นทางโท แต่นายไพฑูรย์ไม่ชะลอความเร็ว ก่อนถึงสี่แยกเกิดเหตุทั้งที่มีป้ายเตือนเป็นเหตุให้รถยนต์กระบะดังกล่าวชนด้านข้างซ้ายของรถโดยสารประจำทางทำให้รถโดยสาร ประจำทางเสียหลักชนราวเหล็กกั้นด้านขวาส่วนรถยนต์กระบะชนราวเหล็กกั้นด้านซ้าย เป็นเหตุให้นายไพฑูรย์นายคนึง และนายสิงห์ โพธิ์นิล ซึ่งนั่งมาด้วยถึงแก่ความตายบุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส รถโดยสารประจำทางของโจทก์เสียหายหลายรายการ เสียค่าซ่อมเป็นเงิน 346,200 บาท ใช้เวลาซ่อมรถ30 วัน ทำให้โจทก์ขาดรายได้สุทธิเป็นเงิน 300,000 บาท โจทก์จ่ายเงินค่าปลงศพให้มารดานายสิงห์และจำเลยที่ 3 บิดานายคนึงรายละ 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 6,000 บาท เป็นค่าเสียหายโดยตรงรวมค่าเสียหายและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องทั้งสิ้น 697,630.65 บาทจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบิดามารดาของนายไพฑูรย์ จำเลยที่ 3เป็นบิดาของนายคนึงซึ่งมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายทั้งสองจำเลยที่ 4 เจ้าของรถยนต์กระบะเป็นนายจ้างของนายไพฑูรย์และนายคนึง ซึ่งขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 5เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 4 จำเลยทั้งห้าจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ขอบังคับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน697,630.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน652,200 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า เหตุชนกันจึงเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของฝ่ายโจทก์ด้วย นายไพฑูรย์บรรลุนิติภาวะแล้วและไม่มีทรัพย์มรดกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดาจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า นายไพฑูรย์และนายคนึงได้ร่วมกันลักรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 4 ไปเที่ยวและดื่มสุราที่ร้านอาหาร และขับไปยังบ้านคนรักของนายสิงห์ครั้นเวลา 5 นาฬิกาเศษ ของวันรุ่งขึ้น นายไพฑูรย์กับพวกก็ขับรถยนต์กระบะดังกล่าวกลับไปที่ทำงานระหว่างทางจึงเกิดเหตุเป็นการกระทำนอกทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 เหตุรถชนกันเป็นความประมาทเลินเล่อของนายวีระ ทีเทศ ผู้ขับรถโดยสารประจำทางของโจทก์ซึ่งขับมาด้วยความเร็วสูง เมื่อถึงบริเวณสี่แยกเกิดเหตุไม่ชะลอความเร็ว ไม่เปิดสัญญาณไฟขอทางจึงเป็นเหตุให้รถชนกันที่โจทก์จ่ายค่าปลงศพเป็นค่าเสียหายที่ไม่ใช่ผลโดยตรง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้รับมรดกของนายไพฑูรย์ โล่วันทา จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับมรดกของนายคนึง เกี๋ยงแก้ว ร่วมกันชำระเงิน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 กันยายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 5 คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2533 นายไพฑูรย์โล่วันทา นายคนึง เกี๋ยงแก้ว นายสิงห์ โพธิ์นิลนายวัลลภ เทพประสิทธิ์ และนายเรืองฤทธิ์ กันเอ้ย ได้นำรถยนต์กระบะคันหมายเลขทะเบียน 1 ย-4111 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ขับไปตามถนนสายวังชิ้น-อำเภอลองจะกลับอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง รถที่ขับไปได้เกิดชนกับรถโดยสารประจำทางปรับอากาศหมายเลขทะเบียน 10-1311 ชัยภูมิของโจทก์ ซึ่งมีนายวีระ มีเทศ เป็นผู้ขับไปตามถนนสายเด่นชัย-ลำปาง มุ่งหน้าไปจังหวัดลำปาง ตรงบริเวณสี่แยกบ้านแม่แขม ซึ่งถนนทั้งสองสายตัดกัน ในเขตตำบลหัวทุ่งอำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นเหตุให้นายไพฑูรย์ นายสังข์และนายคนึงถึงแก่ความตาย คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ในฐานะนายจ้างจะต้องร่วมรับผิดในผลการกระทำละเมิดของนายไพบูลย์กับนายคนึงลูกจ้างหรือไม่ จากประเด็นดังกล่าวมีข้อที่จะต้องพิจารณาก่อนเป็นเรื่องแรกว่า การที่นายไพฑูรย์และนายคนึงลูกจ้างของจำเลยที่ 4 และที่ 5 นำรถยนต์กระบะของนายจ้างออกไปนอกสถานที่ทำการจนกระทั่งถึงที่เกิดเหตุรถชนกันนั้น เป็นการกระทำในทางการที่จ้างหรือไม่ จากคำเบิกความของนายวัลลภ เทพประสิทธิ์พยานโจทก์ว่าได้ร่วมไปกับผู้ตายด้วย โดยก่อนเกิดเหตุ 1 วันนายไพฑูรย์ได้ขอยืมรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจากหัวหน้าช่างของจำเลยที่ 4 ออกไปข้างนอกเพื่อซื้อก๋วยเตี๋ยวรับประทานการรับประทานอาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพให้มีชีวิตอยู่มีกำลังในการทำงาน ถึงแม้นายวีระพล ภมรพล พยานจำเลยซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 4 จะนำสืบว่า จำเลยที่ 4 มีระเบียบว่าเมื่อเลิกงานแล้วคนงานจะออกไปจากที่ก่อสร้างไม่ได้ และพยานเป็นผู้ให้นายเจริญ เสนีชัย เป็นผู้มีหน้าที่ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุและเป็นผู้เก็บรักษาจะนำรถไปใช้หลังจากเลิกจ้างแล้วไม่ได้ก็ตาม ก็เป็นเรื่องภายในระหว่างจำเลยที่ 4 กับพนักงานจะนำระเบียบดังกล่าวไปใช้ยันกับบุคคลภายนอกเพื่อปัดความรับผิดหาได้ไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายไพฑูรย์กับพวกซื้อก๋วยเตี๋ยวไม่ได้ จึงได้ไปรับประทานอาหารในเขตจังหวัดลำปาง1 ชั่วโมง ต่อจากนั้นจึงได้พากันไปที่บ้านนางสาววัชราภรณ์ เอ้ยวันซึ่งอยู่ห่างจากสถานที่ก่อสร้าง 60 กิโลเมตร ศาลฎีกาเห็นว่ายังเป็นเรื่องที่อยู่ในขอบของการอนุญาตของหัวหน้าช่างผู้มีสิทธิอนุญาตให้นำรถไปใช้แทนจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนายจ้าง อันถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ร่วมรู้เห็นในการให้นายไพฑูรย์นำรถออกไปใช้ดังกล่าวด้วยกรณีจึงต้องฟังว่า การที่นายไพฑูรย์นำรถออกไปใช้ดังกล่าวเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ในฐานะนายจ้างและจำเลยที่ 5 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดอันเกิดจากการนำรถไปกระทำให้เกิดอุบัติเหตุด้วย
ส่วนค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าปลงศพนั้น เห็นว่า ตามคำเบิกความของนายจักรินทร์ วงศ์เบ็ญรัตน์ กรรมการของบริษัทโจทก์ผู้จ่ายเงินว่า ได้จ่ายเงินให้บิดามารดาของผู้ตายไปคนละ 3,000 บาท รวม6,000 บาท เป็นการจ่ายให้ไปเพื่อมนุษยธรรม จึงเป็นเรื่องการจ่ายให้เปล่าไม่ต้องการผลตอบแทน กรณีจึงเป็นเรื่องให้โดยเสน่หาของโจทก์เองมิใช่เป็นเรื่องค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิดโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินในส่วนนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ด้วย โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ฎีการวม 8,000 บาท นอกจากที่แก้ให้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
- สรุป
- พ. และค. ลูกจ้างของจำเลยที่4และที่5นำรถยนต์กระบะของนายจ้างออกไปนอกสถานที่ทำการจนกระทั่งถึงที่เกิดเหตุรถชนกันโดยก่อนเกิดเหตุ1วันพ. ได้ขอยืมรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจากหัวหน้าช่างของจำเลยที่4ออกไปข้างนอกเพื่อซื้อก๋วยเตี๋ยวรับประทานการรับประทานอาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพให้มีชีวิตอยู่มีกำลังในการทำงานถึงแม้จำเลยที่4มีระเบียบว่าเมื่อเลิกงานแล้วคนงานจะออกไปจากที่ก่อสร้างไม่ได้และผู้มีหน้าที่ขับและเก็บรักษารถจะนำรถไปใช้หลังจากเลิกงานแล้วไม่ได้ก็ตามก็เป็นเรื่องภายในระหว่างจำเลยที่4กับพนักงานการที่พ. กับพวกซื้อก๋วยเตี๋ยวไม่ได้จึงได้ไปรับประทานอาหารในเขตจังหวัด1ชั่วโมงต่อจากนั้นจึงได้พากันไปที่บ้านว. ซึ่งอยู่ห่างจากสถานที่ก่อสร้าง60กิโลเมตรจึงยังเป็นเรื่องที่อยู่ในขอบของการอนุญาตของหัวหน้าช่างผู้มีสิทธิอนุญาตให้นำรถไปใช้แทนจำเลยที่4ซึ่งเป็นนายจ้างอันถือได้ว่าจำเลยที่4ร่วมรู้เห็นในการให้พ. นำรถออกไปใช้ดังกล่าวด้วยการที่พ. นำรถออกไปใช้ดังกล่าวเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่4จำเลยที่4ในฐานะนายจ้างและจำเลยที่5ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดอันเกิดจากการนำรถไปกระทำให้เกิดอุบัติเหตุด้วย โจทก์ได้จ่ายเงินให้บิดามารดาของผู้ตายไปคนละ3,000บาทรวม6,000บาทเป็นการจ่ายให้ไปเพื่อมนุษยธรรมจึงเป็นเรื่องการจ่ายให้เปล่าไม่ต้องการผลตอบแทนกรณีจึงเป็นเรื่องให้โดยเสน่หาของโจทก์เองมิใช่เป็นเรื่องค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิดโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินในส่วนนี้จากผู้กระทำละเมิด