Home บทความคดีแพ่ง ออกเช็คไม่สมบูรณ์เพราะขาดรายการตามที่กฎหมายกำหนด มีความผิดทางอาญาหรือไม่

ออกเช็คไม่สมบูรณ์เพราะขาดรายการตามที่กฎหมายกำหนด มีความผิดทางอาญาหรือไม่

1270

ออกเช็คไม่สมบูรณ์เพราะขาดรายการตามที่กฎหมายกำหนด มีความผิดทางอาญาหรือไม่

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาถนนสรรพสิทธิ์ เลขที่ 0075766 ลงวันที่ 13สิงหาคม 2540 จำนวนเงิน 1,500,000 บาท และเลขที่ 0075765 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2540 จำนวนเงิน 2,000,000 บาท ซึ่งจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและส่งมอบแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์ได้นำเช็คทั้งสองฉบับไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับโดยให้เหตุผลว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 ให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินยืมจำนวนหนึ่ง แต่เช็คพิพาททั้งสองฉบับเรียกเก็บเงินไม่ได้เนื่องจากเงินในบัญชีของจำเลยไม่พอจ่าย ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายไพบูลย์ ราชอุดม ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความเป็นพยานทั้งในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นพิจารณาว่า มูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับคือหนี้ตามสัญญากู้เงิน 2 ฉบับ ซึ่งจำเลยทำไว้ต่อโจทก์ ฉบับแรกลงวันที่ 1 กันยายน 2538 จำนวนเงิน2,000,000 บาท และฉบับที่สองลงวันที่ 6 กันยายน 2538จำนวนเงิน 1,500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือนซึ่งในเบื้องต้นจำเลยได้สั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ ชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่เรียกเก็บเงินไม่ได้จนต้องมีการเปลี่ยนเช็คจนมาถึงเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 ส่วนจำเลยนำสืบโดยอ้างตนเองเป็นพยานว่า ขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับยังไม่มีข้อความอื่น และจำเลยยังมีนางมิ่งสมร ทองเพ็ญ เป็นพยานเบิกความว่า นางมิ่งสมรเป็นผู้เขียนข้อความอื่นลงในเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามที่โจทก์สั่งซึ่งขณะนั้นเช็คพิพาททั้งสองฉบับมีลายมือชื่อจำเลยสั่งจ่ายไว้แล้วนางมิ่งสมรเคยร่วมทำธุรกิจกับทั้งโจทก์และจำเลยเห็นว่า นายไพบูลย์เป็นประจักษ์พยานโจทก์เพียงปากเดียวที่รู้เห็นเกี่ยวกับการสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับโดยระบุว่า จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 ต่อหน้าตน และเบิกความตอบถามค้านทนายจำเลยว่า สำหรับข้อความอื่นที่ปรากฏในเช็คพิพาททั้งสองฉบับมีบุคคลอื่นเป็นผู้เขียน นายไพบูลย์เคยเห็นนางมิ่งสมรสกับจำเลยไปหาโจทก์ และโจทก์เคยฟ้องนางมิ่งสมรในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คแต่นายไพบูลย์เบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่านายไพบูลย์จำไม่ได้ว่าผู้ใดเป็นผู้เขียนข้อความในเช็คพิพาททั้งสองฉบับ ซึ่งเป็นสิ่งผิดปกติวิสัย เพราะนายไพบูลย์เป็นลูกจ้างของโจทก์มีหน้าที่เร่งรัดติดตามทวงถามหนี้สินให้แก่โจทก์ เช็คพิพาททั้งสองฉบับมีจำนวนเงินรวมกันสูงถึง 3,500,000 บาท หากนายไพบูลย์รู้เห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับจริงนายไพบูลย์ก็น่าจะจำได้ว่าผู้ที่เขียนข้อความอื่นลงในเช็คพิพาททั้งสองฉบับคือใคร คำเบิกความของนายไพบูลย์จึงขัดต่อเหตุผลและมีน้ำหนักน้อย ผิดกับคำเบิกความของนางมิ่งสมรซึ่งสอดคล้องต้องกันกับคำเบิกความของจำเลยว่า ขณะที่นางมิ่งสมรเขียนข้อความอื่นลงในเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามที่โจทก์สั่งนั้น เช็คพิพาททั้งสองฉบับมีลายมือชื่อของจำเลยสั่งจ่ายไว้แล้ว นอกจากนี้นายไพบูลย์ยังเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยรับว่า นายไพบูลย์เป็นผู้นำหนังสือมอบอำนาจของจำเลย พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยเป็นของโจทก์ เจือสมกับทางนำสืบของจำเลย แสดงให้เห็นว่าคำเบิกความของจำเลยมีมูลความจริง ส่วนที่นายไพบูลย์เบิกความว่า นางมิ่งสมรเคยถูกโจทก์ฟ้องก่อนมาเบิกความเป็นพยานจำเลยในคดีนี้ นายไพบูลย์ก็มิได้ยืนยันว่านางมิ่งสมรถูกโจทก์ฟ้องต่อศาลใด และถูกฟ้องเมื่อใด อันจะทำให้เห็นว่านางมิ่งสมรมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์และมีเหตุจูงใจให้เบิกความช่วยเหลือจำเลยคำเบิกความของนายไพบูลย์ในข้อนี้จึงเป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ ทั้งโจทก์เองก็มิได้เข้าเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่อาจทำให้รับฟังว่าคำเบิกความของนางมิ่งสมรคลาดเคลื่อนต่อความจริงและขัดแย้งกับคำเบิกความของจำเลยดังที่โจทก์ฎีกาข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 ยังไม่มีรายการวันที่ออกเช็คอันเป็นวันกระทำความผิด คำสั่งให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน และชื่อผู้รับเงินหรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 988(2)(4) และ (6) บังคับให้ต้องมีรายการเหล่านี้เมื่อไม่มีรายการเหล่านี้ตั้งแต่ขณะออกเช็คจึงเป็นเช็คที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง จำเลยผู้ออกเช็คย่อมไม่มีความผิดทางอาญา จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

สรุป

จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คโดยไม่ได้ลงวันที่ออกเช็คอันเป็นวันกระทำความผิด คำสั่งให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนและชื่อผู้รับเงินหรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 988(2)(4) และ (6)บังคับให้ต้องมีรายการเหล่านี้ เมื่อไม่มีรายการเหล่านี้ตั้งแต่ขณะออกเช็คจึงเป็นเช็คที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง จำเลยผู้ออกเช็คย่อมไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

Facebook Comments