เงินช่วยงานศพผู้ตาย สามารถนำมาหักออกจากค่าทำศพในคดีละเมิดได้หรือไม่
โจทก์ฟ้องว่า ขณะที่นายทองแดงหรือแดง นารี ผู้ตายทำการซ่อมเครื่องยกกระบะของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน น.ฐ.04338 ตามที่จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างมาจำเลยที่ 1 ได้กระทำการโดยประมาทขึ้นไปบนรถแล้วติดเครื่องยนต์โยกสวิตซ์บังคับเครื่องยกให้ทำงาน กระบะที่ค้างได้กดลงมาทับศีรษะนายทองแดงถึงแก่ความตายทันที จำเลยที่ 2, ที่ 3 และที่ 4 ในฐานะนายจ้าง เจ้าของรถ และผู้รับประกันภัยตามลำดับต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ที่ 1 บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายและโจทก์ที่ 2 มารดาของผู้ตาย ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสี่ใช้ค่าเสียหายและสินไหมทดแทนเป็นเงิน 314,975 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การความว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถตามฟ้องแต่ได้ให้จำเลยที่ 3 เช่าซื้อไป จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างผู้ตายมาซ่อมรถโดยพลการ ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะการกระทำของผู้ตายเองจำเลยที่ 1 ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันรับผิด ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 3 ที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันรับผิดชำระเงินน้อยลง
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะที่จำเลยที่ 3 ช่วยทำศพผู้ตาย 3,000 บาทนั้นจำเลยที่ 3 มิได้ยอมรับผิดว่าการตายเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างของตนและมอบให้ในฐานะเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง แต่เป็นการให้ในลักษณะร่วมทำบุญอันเป็นสำนึกในด้านศีลธรรมและเรื่องการบุญการกุศลของจำเลยที่ 3 จะนำมาหักกับจำนวนเงินค่าทำศพที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องไม่ได้
พิพากษายืน
สรุป
เงินจำนวน 3,000 บาทที่จำเลยที่ 3 ช่วยค่าทำศพในขณะที่จำเลยที่ 3 มิได้ยอมรับผิดว่าการตายเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างของตน และมิได้มอบให้ในฐานะเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง แต่เป็นการให้ในลักษณะร่วมทำบุญอันเป็นสำนึกในด้านศีลธรรมและเรื่องการบุญการกุศลของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยจะนำมาหักกับจำนวนเงินค่าทำศพที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องไม่ได้