Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ เป็นเจ้าของรถ แต่มิใช่ผู้ครอบครองรถและมิใช่นายจ้าง ต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิดหรือไม่

เป็นเจ้าของรถ แต่มิใช่ผู้ครอบครองรถและมิใช่นายจ้าง ต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิดหรือไม่

3115

เป็นเจ้าของรถ แต่มิใช่ผู้ครอบครองรถและมิใช่นายจ้าง ต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิดหรือไม่

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาของนายสุเมธา เฒ่าทา ผู้ตายจำเลยเป็นบิดาของนายคเชนทร์หรือคเชน อาจพลไทย ผู้ตาย และเป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ป – 1704 บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2542 นายคเชนทร์ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวโดยมีนายสุเมธาโดยสารมาด้วย ขณะรถแล่นมาตามถนนสายบุรีรัมย์ – สตึก ถึงบริเวณตำบลบ้านยาง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ นายคเชนทร์ได้ขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลเช่นนั้นควรจะมีตามวิสัยและพฤติการณ์จนรถยนต์คันดังกล่าวพลิกคว่ำเป็นเหตุให้นายคเชนทร์และนายสุเมธาถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะเจ้าของรถและยินยอมให้นายคเชนทร์เป็นผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 322,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ใช่เจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ป-1704 บุรีรัมย์เนื่องจากจำเลยได้ยกรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายคเชนทร์บุตรชายก่อนที่จะประสบอุบัติเหตุรถยนต์พลิกคว่ำประมาณ 2 ปี แต่ยังไม่ได้มีการโอนทางทะเบียนรถยนต์ ขณะที่นายคเชนทร์ประสบอุบัติเหตุนายคเชนทร์บรรลุนิติภาวะแล้ว โดยประกอบอาชีพเป็นครู อัตราจ้างไม่ได้อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ป – 1704 บุรีรัมย์ ซึ่งนายคเชนทร์ อาจพลไทย บุตรชายจำเลยนำรถดังกล่าวไปขับด้วยความประมาทพลิกคว่ำ เป็นเหตุให้นายคเชนทร์ผู้ขับและนายสุเมธาเฒ่าทา บุตรชายโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยต้องรับผิดร่วมกับนายคเชนทร์ต่อโจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 437 บัญญัติว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น…” ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ผู้ครอบครองหมายถึงผู้ใช้ยานพาหนะนั้นในฐานะเป็นผู้ยึดถือในขณะเกิดความเสียหาย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งหมายถึงผู้ที่ได้ครอบครองยานพาหนะนั้นอยู่ในขณะเกิดเหตุ แต่ข้อเท็จจริงในคดีฟังเป็นยุติว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้ขับหรือโดยสารไปด้วยแม้จะมีชื่อในทะเบียนเป็นเจ้าของรถคันเกิดเหตุก็ตามก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลรถยนต์คันเกิดเหตุตามความหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 437 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

สรุป

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 ที่กำหนดว่าบุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะใดอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น ผู้ครอบครอง หมายถึง ผู้ใช้ยานพาหนะนั้นในฐานะเป็นผู้ยึดถือในขณะเกิดความเสียหาย หรือเป็นผู้ครอบครองยานพาหนะนั้นอยู่ในขณะเกิดเหตุ ฉะนั้น เมื่อจำเลยมิได้เป็นผู้ขับหรือโดยสารไปในรถยนต์ด้วยแม้จะมีชื่อในทะเบียนเป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลรถยนต์คันเกิดเหตุตามความในมาตราดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง

Facebook Comments