Home บทความคดีแพ่ง ข้อตกลงผ่อนชำระ แบบใดบ้างที่ไม่ทำให้คดีเช็คเลิกกัน

ข้อตกลงผ่อนชำระ แบบใดบ้างที่ไม่ทำให้คดีเช็คเลิกกัน

1862

ข้อตกลงผ่อนชำระ แบบใดบ้างที่ไม่ทำให้คดีเช็คเลิกกัน

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับกระทงละ30,000 บาท รวมปรับ 90,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุกกระทงละ 2 เดือนรวมจำคุก 6 เดือน สำหรับจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน โดยศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันสั่งจ่ายเช็คทั้งสามฉบับตามฟ้องชำระหนี้ค่าจ้างพิมพ์หนังสือแก่โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงินธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสามฉบับ ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองทำหนังสือผ่านชำระหนี้กันตามเอกสารหมาย ล.2 โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองตามหนังสือเอกสารหมาย ล.2 เป็นการแปลงหนี้ใหม่เนื่องจากคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้และเป็นการเพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าไปในหนี้อันปราศจากเงื่อนไขรวมทั้งเป็นการเพิ่มเติมตัวลูกหนี้ และเป็นสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการชำระหนี้ซึ่งมีอยู่ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน อันเป็นการประนีประนอมยอมความต่อกัน คดีอาญาจึงเลิกกัน เห็นว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองตามเอกสารหมาย ล.2 ระบุว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์โดยจะขอผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์งวดแรกภายในหนึ่งสัปดาห์นับแต่วันนี้เป็นเงิน 60,000 บาท และงวดต่อไปอีกงวดละ 60,000 บาท ไปจนครบรวม 10 งวด โจทก์จึงจะถือว่าเป็นการระงับคดีอาญาที่ศาลนี้ เห็นได้ชัดว่าข้อความดังกล่าวเป็นข้อตกลงในการผ่อนชำระหนี้ตามเช็คเท่านั้น มิใช่เป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ หนี้เดิมยังอยู่ ส่วนที่นำหนี้อื่นมารวมผ่อนชำระด้วยก็เพียงเพื่อความสะดวกไม่ต้องทำหนังสือหลายฉบับ ทั้งมิได้มีการเพิ่มเติมลูกหนี้แต่อย่างใดเพราะโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดตามเช็คพิพาทอยู่แล้วและตามข้อตกลงนั้นจำเลยทั้งสองจะต้องผ่อนชำระหนี้จนครบ 10 งวดโจทก์จึงจะถือว่าเป็นการระงับคดีอาญา ถ้าหากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์ดำเนินการตามกฎหมายทันทีแสดงว่าจำเลยทั้งสองจะต้องชำระหนี้ตามข้อตกลงจนครบ จึงจะถือว่าคดีอาญาระงับ จึงเป็นเงื่อนไขในการที่โจทก์จะระงับคดีอาญาให้แก่จำเลยทั้งสอง และตามข้อตกลงดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองในทันที่ ข้อตกลงดังกล่าว จึงมิใช่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความการที่โจทก์และจำเลยทั้งสองทำหนังสือผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวจึงหาทำให้คดีอาญาเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39

พิพากษายืน

สรุป

จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทตามฟ้องชำระหนี้ค่าจ้างพิมพ์หนังสือแก่โจทก์เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การที่ต่อมาโจทก์และจำเลยทำหนังสือผ่อนชำระหนี้กันโดยข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์โดยจะขอผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ไปจนครบรวม 10 งวดโจทก์จึงจะถือว่าเป็นการระงับคดีอาญา ข้อความดังกล่าวเป็นข้อตกลงในการผ่อนชำระหนี้ตามเช็คเท่านั้น มิใช่เป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ หนี้เดิมจึงยังคงมีอยู่ ส่วนที่นำหนี้อื่นมารวมผ่อนชำระด้วยก็เพียงเพื่อความสะดวกไม่ต้องทำหนังสือหลายฉบับ ทั้งมิได้มีการเพิ่มเติมลูกหนี้แต่อย่างใด เพราะโจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามเช็คพิพาทอยู่แล้ว และตามข้อตกลงดังกล่าวนั้น จำเลยจะต้องผ่อนชำระหนี้จนครบ 10 งวด โจทก์จึงจะถือว่าเป็นการระงับคดีอาญา ถ้าหากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์ดำเนินการตามกฎหมายทันทีจึงเป็นเงื่อนไขในการ ที่โจทก์จะระงับคดีอาญาให้แก่จำเลย และตามข้อตกลงดังกล่าว เมื่อไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงสละสิทธิในการ ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองในทันที ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงไม่ทำให้คดีอาญาเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39

Facebook Comments