Home บทความคดีแพ่ง แก้ไขวันที่ในเช็คหลังธนาคารปฎิเสธการจ่าย มีความผิดทางอาญาหรือไม่

แก้ไขวันที่ในเช็คหลังธนาคารปฎิเสธการจ่าย มีความผิดทางอาญาหรือไม่

686

แก้ไขวันที่ในเช็คหลังธนาคารปฎิเสธการจ่าย มีความผิดทางอาญาหรือไม่

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ให้จำคุก 2 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าเช็คพิพาทที่จำเลยเป็นผู้ออกนั้นเคยถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามวันสั่งจ่ายครั้งแรกแล้วเมื่อจำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันสั่งจ่ายเดิมมาเป็นวันสั่งจ่ายใหม่ด้วยการขีดฆ่าวันสั่งจ่ายแล้ว แล้วระบุวันสั่งจ่ายใหม่และเช็คดังกล่าวถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินอีกจะถือได้ว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คฉบับใหม่ และเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่เช็คพิพาทถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามวันสั่งจ่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2537นั้น ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ย่อมเกิดขึ้นและเป็นความผิดสำเร็จแล้วนับแต่วันนั้น ดังนั้น แม้ต่อมาผู้เสียหายกับจำเลยจะได้ตกลงแปลงหนี้ใหม่และจำเลยได้ใช้เช็คพิพาท ซึ่งเป็นเช็คฉบับเดิมมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันสั่งจ่ายใหม่แล้วมอบชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายก็ตาม ก็หาได้ทำให้เช็คพิพาทเป็นเช็คฉบับใหม่ขึ้นมาไม่ เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินอีก ก็ไม่ทำให้เกิดการกระทำความผิดขึ้นใหม่เป็นครั้งที่สอง เพราะเป็นการกระทำความผิดอันเดียวกันจะเกิดเป็นความผิดสองครั้งไม่ได้ การที่โจทก์นำเช็คพิพาทที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินครั้งหลังมาฟ้องเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิด

พิพากษายืน

สรุป

  • การที่เช็คพิพาทถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามวันสั่งจ่ายครั้งแรกนั้นความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ย่อมเกิดขึ้นและเป็นความผิดสำเร็จแล้วนับแต่วันนั้น แม้ต่อมาผู้เสียหายกับจำเลยจะได้ตกลงแปลงหนี้ใหม่โดยจำเลยได้ใช้เช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คฉบับเดิมมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันสั่งจ่ายใหม่แล้วมอบชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายก็หาได้ทำให้เช็คพิพาทเป็นเช็คฉบับใหม่ขึ้นมาไม่ เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินอีก ก็ไม่ทำให้เกิดการกระทำความผิดขึ้นใหม่เป็นครั้งที่สอง เพราะเป็นการกระทำความผิดอันเดียวกัน จะเกิดเป็นความผิดสองครั้งไม่ได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิด
Facebook Comments