Home บทความ การชุมนุมทางการเมือง ถือเป็นเหตุสุดวิสัยในการไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่

การชุมนุมทางการเมือง ถือเป็นเหตุสุดวิสัยในการไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่

751

การชุมนุมทางการเมือง ถือเป็นเหตุสุดวิสัยในการไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,464,215.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,060,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 เมษายน 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 12,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อปี 2557 จำเลยมีโครงการจะจัดงานประชุมสัมมนาวิชาการและนิทรรศการเทคโนโลยีดิจิทัล THAIBEX 2014 (Thailand Broadcasting Exhibition) ระหว่างวันที่ 8 ถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 2557 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมอบหมายให้โจทก์เป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการในวงเงิน 15,000,000 บาท มีนายณภัทร รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการโครงการพิเศษและเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้ดำเนินการตามกระบวนการจัดหาต่อไป แต่ระหว่างที่มีการเจรจาปรับลดค่าจ้างและรูปแบบการจัดงานโดยจำเลยยังไม่ได้สนองรับราคาที่โจทก์เสนอและทำสัญญาจ้างกัน ได้เกิดวิกฤติการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากออกมาร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลบนท้องถนน วันที่ 31 มีนาคม 2557 นายเอนก กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของจำเลยจึงมีคำสั่งให้เลื่อนการจัดงานออกไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และต่อมาเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2557 นายเอนกได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการจัดงาน หลังจากนั้นโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระค่าเตรียมการจัดงานเบื้องต้น ค่าบริการขายพื้นที่ ค่าจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ และค่าจัดงาน THAIBEX Launch แต่จำเลยไม่ยอมชำระ

มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามคำแก้ฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนของค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2557 จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ดำเนินการจัดงานประชุมสัมมนาวิชาการและนิทรรศการเทคโนโลยีดิจิทัล THAIBEX 2014 (Thailand Broadcasting Exhibition) ระหว่างวันที่ 8 ถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 2557 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โจทก์ได้ดำเนินการจัดเตรียมงานดังกล่าวไปแล้วบางส่วน มียอดค่าใช้จ่าย 1,880,193.30 บาท ต่อมาโจทก์และจำเลยได้ยอมรับและตกลงลดยอดค่าใช้จ่ายดังกล่าวลงเหลือ 1,464,215.97 บาท แต่จำเลยไม่ยอมชำระ ดังนี้ คำฟ้องดังกล่าวโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าจ้างแก่โจทก์แล้ว ส่วนโจทก์ได้เตรียมงานไปแล้วอย่างไร มีค่าใช้จ่ายในการเตรียมงานเป็นค่าอะไรบ้าง กี่รายการและรายการละเท่าใด เป็นเพียงรายละเอียดที่คู่ความสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ในส่วนของค่าเสียหายจึงไม่เคลือบคลุม ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในส่วนนี้มานั้นชอบแล้ว คำแก้ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงานสัมมนาวิชาการและนิทรรศการเทคโนโลยีดิจิทัล THAIBEX 2014 แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ในข้อนี้โจทก์มีนายวรวุธ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และนางสาวมลฤดี พนักงานของโจทก์ เป็นพยานเบิกความได้สอดคล้องต้องกันว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการจัดงานสัมมนาวิชาการและนิทรรศการเทคโนโลยีดิจิทัล THAIBEX 2014 ระหว่างวันที่ 8 ถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 2557 โจทก์และจำเลยได้ประชุมและตกลงเกี่ยวกับเนื้อหา และรายละเอียดการจ้างแล้วโดยจำเลยตกลงจ้างโจทก์จัดงานเป็นเงิน 14,990,324.43 บาท ระหว่างรอลงนามในสัญญา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2557 โจทก์ดำเนินการเตรียมการจัดงานในเบื้องต้นเพื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์การจัดงาน มีค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 1,880,193.30 บาท ต่อมาจำเลยให้เลื่อนการจัดงานและมีคำสั่งให้ยกเลิกการจัดงานดังกล่าว โจทก์มีหนังสือแจ้งยอดค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงานเบื้องต้นแก่จำเลยพร้อมสรุปค่าใช้จ่ายให้ทราบแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระเงินแก่โจทก์ โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระ ต่อมาจำเลยขอเจรจาปรับลดยอดค่าใช้จ่าย โจทก์ยอมปรับลดให้คงเหลือ 1,464,215.97 บาท แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมชำระ ซึ่งพยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความยืนยันตรงกันว่า ในการเจรจาว่าจ้างมีนายณภัทร รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของจำเลยในขณะนั้น และได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการโครงการพิเศษของการจัดงานดังกล่าว ได้เข้าร่วมประชุมกับฝ่ายโจทก์ และรับทราบถึงการดำเนินการจัดงานเบื้องต้นของโจทก์มาตลอด ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน อีกทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2556 จำเลยก็เคยจ้างโจทก์ให้จัดงานในลักษณะเดียวกันมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยมีค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงานเบื้องต้นเช่นเดียวกัน ข้อเท็จจริงยังได้ความว่า หลังจากโจทก์มีหนังสือทวงถามค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงานเบื้องต้นไปยังจำเลย จำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าโจทก์ยังไม่ได้เริ่มงาน เพียงแต่โต้แย้งเรื่องจำนวนค่าจ้างเท่านั้น ความข้อนี้แสดงให้เห็นว่า โจทก์ได้เข้าเริ่มทำงานเบื้องต้นตามความจำเป็นของลักษณะงานสัมมนาและนิทรรศการตามฟ้องไปบางส่วน ตามที่ได้รับการอนุมัติจากจำเลยแล้วจริง ซึ่งการงานที่โจทก์ได้กระทำไปนั้นเป็นประโยชน์แก่จำเลยโดยตรง ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างจึงต้องรับผิดชำระค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงานเบื้องต้นแก่โจทก์ แม้ในที่สุดจำเลยจะมีคำสั่งยกเลิกการจัดงานดังกล่าว โดยยังมิได้ลงนามในสัญญาจ้างต่อกัน ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดชำระค่าจ้างในการงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้วบางส่วน เนื่องจากกรณีตามฟ้องเป็นเรื่องการจ้างทำของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือต้องทำเป็นหนังสือสัญญาต่อกัน ก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ การชุมนุมทางการเมืองดังกล่าว ยังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 อันจะเป็นผลทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 วรรคสอง และมาตรา 372 วรรคหนึ่ง อีกทั้งไม่ใช่เป็นการจัดการงานนอกสั่งที่ไม่สมประโยชน์ของจำเลยดังที่จำเลยกล่าวอ้างมาในคำแก้ฎีกา พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ดำเนินการเตรียมการจัดงานเบื้องต้นให้จำเลยไปแล้วบางส่วนจริง จำเลยซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างจึงต้องรับผิดชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวแก่โจทก์ สำหรับจำนวนค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงาน ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจปรับลดลงบางส่วนโดยกำหนดให้เป็นเงิน 1,060,000 บาท ตามการงานที่โจทก์ได้กระทำไป โดยจำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งจำนวนค่าใช้จ่ายดังกล่าว คงโต้แย้งเพียงว่าสัญญาจ้างทำของยังไม่เกิดขึ้นเท่านั้น จำนวนค่าใช้จ่ายที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาจึงเหมาะสมแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับเป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

สรุป

โจทก์และจำเลยได้ประชุมและตกลงเกี่ยวกับเนื้อหาและรายละเอียดการจ้างแล้ว แม้จำเลยยังมิได้ลงนามในสัญญาจ้างให้โจทก์เข้าจัดงานดังกล่าว แต่ตามพฤติการณ์ที่ปฏิบัติต่อกันจำเลยแสดงออกชัดเจนว่ายินยอมให้โจทก์เข้าดำเนินการเตรียมการจัดงานและมีค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงานเบื้องต้นเกิดขึ้นแล้ว แม้ต่อมาจำเลยให้เลื่อนการจัดงานและมีคำสั่งให้ยกเลิกการจัดงานดังกล่าว โจทก์มีหนังสือแจ้งยอดค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดการเบื้องต้นแก่จำเลย พร้อมสรุปค่าใช้จ่ายให้ทราบแล้ว จำเลยขอเจรจาปรับลดยอดค่าใช้จ่าย โจทก์ยอมลดลงให้แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระ การที่โจทก์มีหนังสือทวงถามค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงานเบื้องต้นดังกล่าว จำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าโจทก์ยังไม่ได้เริ่มงาน เพียงแต่โต้แย้งเรื่องจำนวนค่าจ้าง แสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้เข้าเริ่มทำงานเบื้องต้นตามความจำเป็นของลักษณะงานสัมมนาและนิทรรศการตามฟ้องไปบางส่วน ตามที่ได้รับการอนุมัติจากจำเลยจริง ซึ่งการงานที่โจทก์ได้กระทำไปนั้นเป็นประโยชน์แก่จำเลยโดยตรง การที่จำเลยมีคำสั่งยกเลิกการจัดงานดังกล่าว โดยยังมิได้ลงนามในสัญญาจ้างต่อกัน ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดชำระค่าจ้างในการงานที่โจทก์ทำไปแล้วบางส่วน เนื่องจากกรณีตามฟ้องเป็นเรื่องการจ้างทำของ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือต้องทำเป็นหนังสือสัญญาต่อกัน

Facebook Comments